Sunday, December 27, 2015

อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์ ตอน 4 (จบ)

   สวัสดีครับมาต่อเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์ วันนี้จะเน้นเรื่อง Jig ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยให้การทำกีตาร์สะดวกขึ้น มีความเที่ยงมากขึ้น ทำให้กีตาร์มีความเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกตัว มีอะไรบ้างมาดูกัน


 จากรูปด้านบน
1.Jig ใช้สำหรับทำ Head slot สำหรับกีตาร์คลาสสิก ออกแบบให้ใช้ช่องเดียวกันเพื่อให้ช่องที่เจาะมีขนาดเท่ากัน ใช้ร่วมกับ Trimmer 
2.Jig สำหรับเจะรูร้อยสาย บนตัว Bridge
3.Jig สำหรับรองเลื่อยสำหรับทำ Rosette
4.Jig สำหรับเจาะรูใส่ Tuning Machine.





Jig สำหรับช่วยเลื่อยสำหรับทำช่องที่ Heel บนคอกีตาร์









Jig ตัวนี้เรียกว่า Side mold ใช้สำหรับ
1.ปรับความเรียบด้านในไม้ข้างหลังจากดัดแล้ว
2.เก็บไม้ข้างที่ดัดแล้ว
3.ปรับความหนาไม้ข้าง
4.รองติดกาว kerf lining กับไม้ข้าง
5 รองติดกาว double side





Jig สำหรับรองตัวกีตาร์ ช่วยในการรัดเชือกสำหรับติดกาว Binding












Solera เป็นอุปกรณ์สำหรับประกอบกีตาร์ให้เป็นตัวซึ่งเป็นวิธีทำแบบ Spain













จากรูปทางซ้ายมือ
1.Jig สำหรับดัดไม้ข้าง
2.เครื่องคอบคุมอุณหภูมิมีประโยชน์ได้แก่ สำหรับดัดไม้ข้าง(ใช้ประมาณ 240 องศาฟาเรนไฮต์) สำหรับถอด Bridge (ใช้ประมาณ 140 องศาฟาเรนไฮต์) 
3.แผ่นลวดความร้อน ใช้สำหรับใส่ใน Jig ดัดไม้ข้าง สามารถให้อุณหภูมิสูงทำให้ไม้ข้างอยู่ทรงดี
4.แท่งความร้อนสำหรับดัด ใช้ดัดไม้ข้างหลังจากดัดด้วย Jig  เพื่อให้ทรงไม้ข้างพอดีกับแบบ และใช้ดัด Purfling , Binding








1.เครื่องเซาะ Binding
2.วงเวียน Trimmer สำหรับตัด Rosette













เครื่องดูความชื้น Dehumidifier ใช้ควบคุมความชื้นในอากาศ สำหรับการทำกีตาร์ความชื้นในอากาศควรอยู่ที่ 40-50 % ความชื้น ถ้าไม่มีติดแอร์ได้และใช้ Dry mode.







อุปกรณ์สุดท้ายที่อยากนำเสนอคือ หินลับมีด ซึ่งเป็นสิ่งแรกเลยที่แนะนำให้ซื้อ เพราะต้องใช้ก่อนเริ่มทำกีตาร์ 
1.แบบ Diamond (กากเพชร) แบบ 2 หน้า เบอร์ 600 และ 1200 grid 
2.แบบ Diamond (กากเพชร) แบบ 2 หน้า เบอร์ 220 และ 325 grid 
3.หินลับญี่ปุ่นแบบใช้น้ำ เบอร์ 6000
4.หินลับญี่ปุ่นแบบใช้น้ำ เบอร์ 1000
5.ไกด์สำหรับลับ เหมาะสำหรับใช้กับ Diamond ไม่เหมาะใช้กับ หินลับญี่ปุ่นเพราะจะทำให้หน้าหินลับเป็นร่องตามล้อของไกด์ 
     ปกติผมใช้หินลับญี่ปุ่น เริ่มจากเบอร์ 1000 จบด้วยเบอร์ 6000 สำหรับ หินลับแบบ Diamond เบอร์ 220 ใช้สำหรับปรับหน้าใบกบใหม่อาจทำเดือนละครั้ง ส่วนไกด์สำหรับนักเรียนมือใหม่ใช่เฉพาะกับหินลับ Diamond 

อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์อาจมีมากหรือน้อยกว่านี้ เพราะช่างทำกีตาร์แต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน ที่เสนอเป็นแบบกลางๆ ไ่ม่มากไม่น้อย ส่วนเครื่องมือไฟฟ้า จะไม่นำเสนอในบทความนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับช่างทำกีตาร์มือใหม่ครับ ขอบคุณครับ ;)

Thursday, December 3, 2015

อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์ ตอน 3

      สวัสดีครับอาทิตย์นี้มาต่อเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือกัน ว่าไปแล้วอุปกรณ์สำหรับทำกีตาร์ดูไม่น้อยเลย บางชนิดหาซื้อได้ในประเทศ บางชนิดซื้อได้เฉพาะต่างประเทศ บางชนิดซื้อไม่ได้ต้องทำขึ้นเองได้แก่ พวก Jig Fixer หรืออุปกรณ์ช่วยจับชิ้นงาน ซึ่งบางอย่างต้องมีความเที่ยงตรงสูง ได้แก่ Solera เป็นอุปกรณ์สำหรับรองรับการประกอบกีตาร์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดองศาคอ ความโค้งของไม้หน้า ความตั้งฉากของไม้ข้างและไม้หน้า เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวไว้ในตอนต่อไป แต่ตอนนี้มาเพิ่มเติมอุปกรณ์เล็กกันต่อ

กลุ่มตะไบและบุ้ง(File and Rasp)


1.ตะไบละเอียดสี่เหลี่ยม อันนี้ได้มาจากอาจารย์วิรุฬ(พี่นิด) วันหนึ่งประมาณปี 2005 ผมไปซื้อตะไบยี่ห้อ Nicholson เพื่อนำมาทำตะไบขอบ Fret ขากลับแวะไปช๊อปกีตาร์พี่นิด แกขอแลกกันระหว่างตะไบละเอียดสี่เหลี่ยมและตะไบที่ผมซื้อมา เนื่องจากแกต้องเอาไปใช้ในการเรียนทำกีตาร์ที่สเปน ตะไบละเอียดอันนี้ผมใช้ตอนแบ่งร่องสายบน Nut หลังจากขีดตำแหน่งด้วยดินสอ ใช้ตะไบละเอียดเพราะว่าแรงต้านในการตะไบน้อยมากทำให้มือเรานิ่ง ส่งผลให้ตำแหน่งที่ตะไบไม่พลาด จากนั้นทำร่องตามขนาดสายกีตาร์ด้วยตะไบร่องสายบทนัทของ Steward-mac อีกครั้ง
2.ตะไบร่องสายบน Nut (Double-edge nut files) ของ Steward-mac ขนาดที่ใช้กับกีตาร์คลาสสิกคือ 0.36,0.42,0.50 นิ้ว สำหรับ สาย 1,4 และ 2,5 และ 3,6 ตามลำดับ
3.ตะไบละเอียดหางหนู ซื้อมาจาก Tokyo hand ที่ญี่ปุ่น เห็นคร้้งแรกคือคุณ Imai (ช่างทำกีตาร์ชาวญี่ปุ่น) ใช้ทำร่องสายบน Nut  สำหรับผมใช้ตะไปหางหนู หลังจากจากตะไบร่องสายบน Nut ของ Steward-mac เพราะว่าละเอียดกว่าและสัญฐานเป็นรูปทรงกระบอกเหมือนสายกีตาร์ ทำให้ร่องสายมีความพอดีและไม่สร้างความเสียหายกับสายกีตาร์
4.ตะไบสามเหลี่ยม สำหรับปรับระดับ Fret
5.Double-edge Fret files แบบหยาบ ใช้สำหรับทำโค้งยอด Fret หลังจากการปรับระดับ Fret
6.Diamond Fret files. ความละเอียดประมาณ เบอร์ 300  ใช้สำหรับทำโค้งยอด Fret หลังจาก Double-edge Fret files แบบหยาบ
7.Fret End Dressing file ใช้สำหรับตะไบลดความคมปลาย Fret
8.บุ้งท้องปลิง(Half round Rasp) เบอร์ 3 ของ Swizz madeใช้สำหรับแต่งโค้งร่องใส่ Tuning Machine
9.ตะไบห้าเหลี่ยม สำหรับแต่งหัวกีตาร์และขอบ Binding
10.บุ้งท้องปลิง(Half round Rasp) ละเอียดปานกลาง ใช้สำหรับแต่งรูปร่างคอ ปีก Bridge
11.บุ้งท้องปลิง(Half round Rasp) หยาบ ใช้สำหรับแต่งรูปร่างคอ
12.ตะไบปรับปลาย Fret มุม 60 องศา ความละเอียดปานกลาง
13.ตะไบปรับปลาย Fret มุม 90 องศา แบบหยาบ

กลุ่มอุปกรณ์รอง clamp


อุปกรณ์รอง Clamp เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันในการทำกีตาร์ มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้กีตาร์เป็นรอย และ ช่วยกระจายแรงกดของ Clamp ให้ทั่วบริเวณติดกาว ส่งให้ให้การติดกาวมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
1.ใข้สำหรับรองติดกาว Rosette
2.ใข้สำหรับรองติดกาว Tail block
3.ใข้สำหรับรองติดกาว Brace
4.ใข้สำหรับรองติดกาว Fingerboard
5.ใข้สำหรับรองติดกาว ส่วนหัวกีตาร์
6.ใข้สำหรับรองติดกาว Head plate
7.ใข้สำหรับรองติดกาว Back
8.ใข้สำหรับรองติดกาว Harmonic bar
9.ใข้สำหรับรองติดกาว V joint Head
10.ใข้สำหรับรองติดกาว Kurflining 

กลุ่ม Shooting board


Shooting board เป็นอุปกรณ์ช่วยและอำนวยความสะดวก สำหรับการไสกบ
1.ใช้สำหรับการเตรียม Brace
2.ใช้สำหรับการเตรียม Glue block
3.ใช้สำหรับการเตรียมปรับมุม Rosette
4.ใช้สำหรับการเตรียมปรับความหนา Nut Saddle



1.ใช้สำหรับการเตรียม  Bookmatch ไม้หน้า ไม้หลัง
2.ใช้สำหรับการเตรียม Fingerboard

แหล่งความรู้เพิ่มเติม
http://www.stewmac.com/Luthier_Tools/  เป็นร้านขายอุปกรณ์สำหรับทำกีตาร์ในอเมริกา

นี่ยังไม่หมดนะครับเดี่ยวคราวหน้ามาต่อกันอีก


Wednesday, November 25, 2015

อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์ ตอน 2

    สวัสดีครับหายหน้าไปอีก 1 อาทิตย์ครับเนื่องจากผมไปร่วมงาน Jakarta Asean Guitar Festival. ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในอนาคตอาจจะนำประสบการณ์การไปร่วมงานโชว์กีตาร์ให้ฟังครับ แต่วันนี้มาเพิ่มเติมกันเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์กันต่อ

กลุ่มเครื่องมือการวัด (Measurement)



1.วงเวียน(Compasses) ของ Rotring ตั้งแต่สมัยเรียนเขียนแบบในมหวิทยาลัย ใช้ร่างตำแหน่ง sound hole
2.ดินสอ (Marker) ของ  Rotring เหมือนกัน แบบนี้ดี ใส่ใหญ่ ไม่หักง่าย เลือกขนาดความเข้มได้
3. Vernier caliper ยี่ห้อ Mututoyo (Japan) ขนาด 6 นิ้ว ละเอียด 0.05 มิลลิเมตรใช้วัดขนาดความหนาไม้ชิ้นไม่ใหญ่ได้แก่ Brace Tailblock
4.ตลับเมตร(Tape Measure) ขนาดยาว 3 เมตร ของ Stanley ใช้สำหรับวัดระยะไม้ขนาดใหญ่
5.ตัววัดระดับFret (Fret Rocker) ของ Steward-Mac ใช้ตรวจสอบระดับ Fret
6,ไม้ฉาก (Square) ของ Rotring เช่นกัน ใช้สำหรับลากเส้นฉาก
7.ไม้บรรทัด 10 เซนติเมตร ความละเอียด 1 มิลลิเมตร ยี่ห้อ Shinwa(ตรานกเพนกวิน)
8.ไม้บรรทัด 6 นิ้ว ยี่ห้อ General ความละเอียด 0.01 นิ้ว(หนึ่งนิ้วแบ่งเป็น 100 ช่อง หรือ ช่องละ 0.254 มิลลิเมตร) ใช้สำหรับตั้งความสูงสาย
9,10,11 เหล็กฉาก(Machinist Square) ขนาด 20 ,10 และ 7 เซนติเมตร
12.เหล็กหมาด(Awl) ซื้อจาก Tokyo hand ญี่ปุ่น ใช้เจาะตำแหน่งบนไม้ ก่อนเจาะด้วยดอกสว่าน
13.ขอขีด(Making) ซื้อจาก Tokyo hand ญี่ปุ่น เช่นกัน ใช้ขีดเส้นบอกระดับ ก่อนปรับความหนาไม้
14.ฉากเป็นวัดมุม(T Bevel) ของ Shinwa ใช้วัดมุมตอนทำ V Joint คอกีตาร์
15,17,18.ไม้บรรทัด(Ruler) ขนาด 30,60 และ 90 เซนติเมตร
16.ไม้บรรทัดตรง(Straight Ruler) ไม้บรรทัดตรง 18 นิ้ว ของ Steward-Mac สำหรับตรวจความตรงของ Fingerboard


1.ไม้วัดองศา(Protactor) ยี่ห้อ Shinwa ใช้สำหรับวัดมุมไม้สำหรับทำคอกีตาร์
2.ตัววัดความหนา(Thickness Caliper)

กลุ่มแม่แรง และ ปากกาจับ (Clamp)


1.F clamp ไม้ สำหรับติดบริจด์ หรือซ่อมรอยแตกไม้หน้า ยึดไม้หน้ากับแบบ
2. C clamp  สำหรับยิดไม้ขณะติดกาว หรือ ใช้ยึด working board
3. F clamp เหล็ก ขนาด 20 และ 25 เซนติเมตร ยี่ห้อ TUV ใช้สำหรับยึดติดกาวตอนประกอบกีตาร์ 
4.  U clamp ขนาด 7 นิ้ว ใช้สำหรับยึดติดกาว bridge กับ ไม้หน้า จาก Steward-Mac
5. Spring clamp ขนาด 2 นิ้ว สำหรับยัดจับชั่วคราว และไม้ต้องการใช้แรงมาก

อื่นๆ

1.ฆ้อนไม้ ใช้สำหรับตีไม้ เช่นตอนผ่าไม้ Brace
2.ฆ้อนตอก Fret ยี่ห้อ PS Swiss Tools Hickory ใช้สำหรับตี Fret ขอดีของฆ้อนชนิดนี้คือไม่มีแรงดีดกลับมาสู่มือผู้ตี
3.ฆ้อนเหล็ก สำหรับตอกตะปูเหล็กเพื่อการกำหนดจุดก่อนติดกาว
4.กรรไกร ใช้ตัดกระดาษทราย
5.คีมตัด Fret อันนี้ซื้อจากคลองถม แล้วมาเจียปลายออก เพื่อให้สามารถตัด Fret ได้ลึกขึ้นขณะตี Fret
6.Cutter ใช้สำหรับตัด Veneer 
7.มีดญี่ปุ่น ใช้สำหรับ เกลา แต่ง รูปแบบ คอกีตาร์
8.Scraper ใช้สำหรับปรับ ความหนา และ พื้นผิวของไม้ในรอบสุดท้ายก่อนขัดกระดาษทาย เพราะไม่ทำให้ไม้ฉีกขาดแม้ไม้นั้นจะย้อยเสี้ยน
9.Burnisher ใช้สำหรับลับ Scraper ให้คม

ตอนหน้ามาเพิ่มเติมกันต่อครับ ขอบคุณครับ :)


Monday, November 9, 2015

อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์ ตอน 1

       สวัสดีครับ หายไปหนึ่งอาทิตย์ เนื่องจากไปเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในตอนนี้ขอเสนอเรื่อง "อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับทำกีตาร์" อาจมีประโยชน์ต่อผู้ต้องการจะเริ่มทำกีตาร์ และเป็นคำถามบ่อยครั้งของผู้มาเรียนทำกีตาร์ ว่าต้องซื้ออะไรบ้าง อันไหนก่อนหลัง
     อุปกรณ์และเครื่องมือในการทำกีตาร์มีหลายอย่าง สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้
1. เครื่องมือแบบไม่ใช้ไฟฟ้า( Hand tools) เป็นเครื่องมือส่วนตัวสำหรับช่างทำกีตาร์ ได้แก่ สิ่ว(Chisel),กบ (plane) เป็นต้น
2. เครื่องมือไฟฟ้า(Power tools) มีทั้งขนาดเล็กและแบบตั้งโต๊ะ ได้แก่ Trimmer, เลื่อยสายพาน (Bandsaw)
3. อุปกรณ์แบบ ( Jig ) เป็นอุปกรณ์ช่วยทำกีตาร์ ส่วนใหญ่ช่างทำกีตาร์ต้องทำเองเพราะไม่มีขายทั่วไป ได้แก่ Mold guitar, Solera 
4. อุปกรณ์รองหนีบกาว เป็นอุปกรณ์สำหรับป้องกันตัวกีตาร์ขณะติดกาว เพื่อไม่ให้ตัวกีตาร์เป็นรอย

    ส่วนเครื่องมือที่นำมาแสดงในรูปเป็นเครื่องมือที่ผมใช้สำหรับทำกีตาร์ ได้แก่

กลุ่มเลื่อย (Saw)


1.เลื่อยลันดา (Rip saw) ยี่ห้อ IRWIN ขนาดยาว 22 นิ้ว ใช้เลื่อยไม้ท่อนใหญ่หน้าตัดกว้างประมาณ 3 นิ้วขึ่นไป เช่น สำหรับการเตรียมไม้ทำคอ การเตรียมผ่าไม้หลัง ไม้ข้าง
2.เลื่อยญี่ปุ่น (Dozuki saw) ยี่ห้อ Zsaw  รุ่นนี้สามารถเปลี่ยนเฉพาะใบเลือยได้ใช้ด้ามเดิม การใช้งานต้องออกแรงดึง ขนาดยาว 15 ซม. ความหนาของใบเลื่อย 0.3 มิลลิเมตร มีไกด์ด้านหลังใบเลือยช่วยให้เลือยตรง ใช้สำหรับตัดไม้ตามขวาง ชินงานไม่ใหญ่ได้แก่ การตัดไม้ Brace ไม้ back bar
3.เลื่อย Topman Z ยาว 265 มิลลิเมตร หนา 0.6 มิลลิเมตร การใช้ออกแรงดึงเหมือนเลื่อยญี่ปุ่น ใช้สำหรับตัด Tail block, ตัดไม้สำหรับทำคอ, ตัด Heel ทำร่องสำหรับลิ่มในการต่อคอ แบบSpanish heel
4.เลื่อย Fret ยี่ห้อ Steward-MacDonald สำหรับทำร่อง Fret มีความหน้า 0.6 มิลลิเมตร
5.เลื่อยฉลุ(Fret saw) ใช้สำหรับเลื่อยไม้หน้า ไม้หลัง หรือ ตัดกระดูกสำหรับทำ Nut saddle

กลุ่มกบ (Plane)



     กบที่ผมซื้อมาทุกตัวต้องนำมาให้ได้ฉาก และปรับผิวหน้ากบให้เรียบก่อนใช้ ต้องปรับอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเนื่องจากไม้มีการหดขยายตัวตามความชื้นในอากาศที่เปลื่ยนแปลง
1.กบไม้ยาวแบบมีประกับ ยาว 18 นิ้ว ผลิตโดย ช่างธรรมศักดิ์ ใบกบ Schlieper wolfram alloy Germany (ตา ตา) ใช้งานเดียวเลยสำหรับ Book match ไม้หน้าและไม้หลัง
2.กบไม้แบบมีประกับ ยาว 12.5 นิ้ว ผลิตโดย ช่างธรรมศักดิ์ ใบกบ Vertitas PM-V11 Canada เอามาปรับ ให้ทางออกขี้กบกว้างขึ้น ลบมุมให้จับสบาย และป้องกันการแตกเมื่อใช้ฆ้อนเฆาะปรับใบกบ เป็นกบที่ใช้มากที่สุด สำหรับ ปรับความหน้าไม้หน้า ไม้หลัง ไม้ข้าง ใส้ปรับขนาด Brace, back bar, คอ เป็นต้น
3.กบไม้ยาว 9 นิ้ว ผลิตโดย ช่างแก่ ใบกบ Schlieper wolfram alloy Germany (ตา ตา) ใช้งานสำหรับปรับ ความหนา กระดูก Nut Saddle
4.กบญี่ปุ่น ฝากคุณ Yuichi Imai สั่งช่างทำกบจากญี่ปุ่นผลิตให้ เป็นกบที่ใบกบตั้งฉากกับตัวกบ ใช้หรับ ใส่ปรับระดับ Fingerboard  ปรับไม้หลังกรณีไม้มีการย้อนเสี้ยน ขอดีของกบชนิดนี้คือ ใส่นิ่งเนื่องจากใบหน้า ใส่ย้อนเสี้ยนได้ ไม้ไม่ฉีก
5.กบตัวเล็ก ยาว 9 เซนติเมตร ใช้สำหรับปรับ Brace
6.กบจิ๋ว ยาว 4 เซนติเมตร ใช้สำหรับปรับ Brace
7.และ 8 Spoke shape หรือ เขียด ใช้สำหรับเกลาคอ

กลุ่มสิ่ว ( Chisel )


1.เหล็กแกะ หน้ากว้าง 1.5 มิลลิเมตร ซื้อจากร้าน นำชัย บางโพ เนื่องจากสิ่วที่ใช้กันมีขนาดเล็กสุดประมาณ 3 มิลลิเมตร ใช้สำหรับ เซาะร่อง Binding ส่วนที่อยู่ภายในคอกีตาร์กรณีต่อคอแบบ Spanish
2.เหล็กแกะ ผลิตโดย Swizz made หน้ากว้าง 2 มิลลิเมตร ใช้สำหรับเซาะร่อง Binding
3.สิ่ว Maple หน้ากว้าง 1/8 นิ้ว
4.สิ่ว Swizz made หน้ากว้าง 4 มิลลิเมตร ใช้ทำความสะอาดพื่นร่อง Nut
5.สิ่ว Footprint หน้ากว้าง 1/4 นิ้ว ใช้เซาะ ฺBack reinforcement สำหรับ ช่องสำหรับ Back Bar ก่อนติดไม้กับไม้หลัง
6.สิ่ว Footprint หน้ากว้าง 5/8 นิ้ว อันนี้ใช้มากที่สุด หน้ากว้างใช้ปรับเรียบ Heel ส่วนที่ติดกับไม้หน้า และใช้ตัด Bingding ใช้ล้างร้อง Binding ,purfling.

เครื่องมือต่างๆ ของช่างทำกีตาร์แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อยู่ที่ความถนัด ความชอบ ที่ต่างกัน
นี่ยังไม่หมดครับเครื่องมือยังมีอีก ค่อยๆ ดูกันไปประดับความรู้ครับ เจอกันครั้งหน้าครับ

Monday, October 26, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์ตอนที่ 3 (จบ)

     สวัสดีครับวันนี้มาต่อในหัวข้อที่เหลือ อาจจะดูวิชาการหน่อยแต่ไม่ยากกว่าที่จะเข้าใจครับ

Sustain
     โดยทั่วไปคำว่า Sustain ที่เราเข้าใจกัน คือความยาวของเสียงกีตาร์หลังจากดีดจนเสียงเงียบลง
 คราวนี้ลองมาดูความหมายลึกๆ กันบ้าง Sustain เป็นเรื่องของเสียง ซึ่งมีเรื่องของเวลาเข้ามา
เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อ Envelope of Sound(เกี่ยวกับการเกิดเสียงตั้งแต่เริ่มดังขึ้น จนเสียง
เงียบหายไป) Envelope of Sound มีอาจหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมนำมาอธิบายมี 2 แบบได้แก่

แบบที่ 1 ใช้อธิบายเกี่ยวกับเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วน  ส่วนคือ Attack Sustain และ Decay 

รูปที่ 1 จากเวบไซต์ http://filmsound.org/  กราฟแสดงการดำเนินของเสียงโดยแกนตั้ง(X)เป็นระดับความดังเสียง แกนนอน(Y)เป็นเวลา ลองจินตนาการถึงการดีดสายกีตาร์ เมื่อเริ่มดีดที่จุด A จากนั้นเสียงเริ่มดังจนถึงดังสุดที่จุด B ช่วงนี้เรียกว่า Attack จากนั้นเสียงจะคงตัวอยู่สักระยะหนึ่งถึงจุด C เรียกช่วงนี้ว่า Sustain และเสียงจะค่อยๆ เบาลงที่จุด C และหายไป จุด D ช่วงนี้เรียกว่า Decay 

แบบที่ 2 ใช้อธิบายเสียงในเรื่อง Synthesizer ซึ่งเป็นการจำลองเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงเครื่องดนตรี
ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ Attack Decay Sustain และ Release หรือเรียกสั้นๆ ว่า ADSR


รูปที่ 2 จากเวบไซต์ http://my.visme.co/projects/audio-basics-03c4ac เริ่มจาก Attack เป็นช่วงตั้งแต่เริมเกิดเสียงถึงเสียงดังสุด ช่วงต่อมาคือ Decay เป็นช่วงที่เสียงดังสุดเริ่มเบาลง และเข้าสู่ช่วงที่เสียงมีความดังคงที่เรียก Sustain จากนั้นเป็นช่วงเสียงเบาและเงียบไปเรียก Release
     ในภาพรวมแบบที่ 1 และ 2 มีความคล้ายกัน  ต่างกันแค่หลังช่วง Attack ที่มีช่วง Decay(แบบที่2) เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น และการใช้ชื่อเรียกต่างกันในช่วงสุดท้าย Decay(แบบที่1) กับ Release (แบบที่2)
     มีคำศัพท์บางคำอาจได้ยินคุ้นหูได้แก่ Fast Attack ซึ่งหมายถึง การเกิดเสียงถึงจุดดังสุดด้วยระยะเวลาที่สั้นในช่วง Attack เช่น เสียงกระแทกประตู เสียงปืน เสียงตบมือ เป็นต้น 

      Sustain มีความสำคัญต่อเครื่องดนตรี  ส่วนใหญ่นักเล่น ต้องการ Sustain ที่ยาวเพื่อใช้ในการเล่นโน้ต และคอร์ด บางคนอาจใช้คำพูดว่า "Singing Quality" ในการอธิบายเรื่อง Sustain ได้เช่นกัน แต่ Sustain ที่ยาวในบางกรณี ไม่จำเป็นต่อนักกีตาร์บางแนวที่ใช้กีตาร์ในการเล่นแบบ Percussive(เน้นเล่นเป็นจังหวะ) เช่น การเล่นในแนวกีตาร์ Flamenco นักเล่นต้องการ Sustain สั่นกว่า หรือ กีตาร์ Archtop ใช้เล่น Rhythm sectionในวงดนตรีสำหรับเต้นรำในช่วงปี 1930-1940 (1) เป็นต้น
     ในการทำกีตาร์มีปัจจัยที่มีผลต่อ Sustain หลายอย่าง เช่น น้ำหนักของไม้หน้า ถ้าน้ำหนักไม้หน้าเบาการสั่นจะดีกว่าทำให้ Sustain ยาว, การติดตั้ง Saddle และ Nut ที่ดี(พอดีกับร่องของมัน)จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานที่ส่งจากสายไปขยับไม้หน้าส่งผลให้ Sustain มากขึ้น, การตั้ง Action (ความสูงของสายกีตาร์) Action ต่ำส่งผลให้ Sustain สั้นลง, ผู้เล่นมีส่วนเช่นกันในการเพิ่ม Sustain ให้ยาวขึ้นโดยใช้เทคนิคการเล่นแบบ Vibrato ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังงานให้กับการสั่นของไม้หน้า เป็นต้น 




Wraparound&Projection

     Wraparound และ Projection เป็นเรื่อง ทิศทางของเสียงเครื่องดนตรีที่กระจายออกไปบริเวณรอบเครื่องดนตรี Wraparound เป็นทิศทางเสียงที่ได้ยินด้านหลังกีตาร์ก็คือผู้เล่นนั่นเอง ว่าได้เย็นชัดเจนเพียงไร เปรียบเสมือนมอนิเตอร์ มีประโยชน์ให้ผู้เล่นควบคุมคุณภาพเสียงการเล่นของตัวเองได้ ในกีตาร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสายเหล็กนิยมทำ Soundport คือการเจาะรูบริเวณไม้ข้างเพื่อให้ผู้เล่นได้ยินเสียงกีตาร์ได้ดียิ่งขึ้น  ส่วน Projection เป็นทิศทางเสียงที่ออกไปข้างหน้าสู้ผู้ฟัง และ เพื่อนร่วมวง มีความสำคัญมากในกรณีแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิกเมื่อไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการแสดง ในบางครั้งช่างทำกีตาร์ใช้ Tornavoz ติดตั้งที่ sound hole เพื่อการเสริม projection 
   
Presence
     คำว่า Presence ในภาษาอังกฤษแปลว่า การแสดงตน คำนี้อธิบายค่อนข้างเข้าใจยาก เน้นเรื่องความรู้สึก ซึ่งเป็นด้านของผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังอยู่ในห้องคอนเสิร์ตไม่ว่าฟังที่จุดไหนจะได้ยินเสียงกีตาร์ได้ชัดเจน คุณภาพเสียงใกล้เคียงกัน หรือแม้แต่นักกีตาร์เล่นในโน้ตที่เบา คุณภาพเสียงของโน้ตนั้น ผู้ฟังได้ยินชัดเจนเหมือนกับขณะที่นักกีตาร์เล่นในโน้ตเสียงดังปานกลางและดังมาก 




จากเรื่องของเสียงกีตาร์ที่กล่าวมาทั่งหมดประมาณ 10 หัวข้อ มีประโยชน์หลายอย่างเช่น
1.ช่างทำกีตาร์ใช้สื่อสารกับลูกค้า เพราะในการสั่งทำกีตาร์ลูกค้ายังไม่ได้ยินเสียงกีตาร์แต่ต้องตัดสินใจสั่งทำ เพราะฉะนั้นการพูด อธิบาย ความต้องการของลูกค้าและช่างทำกีตาร์ควรเข้าใจชัดเจน หรือถ้าให้ดีควรมีตัวให้ลองก่อน
2.ช่างทำกีตาร์สามารถอธิบายคุณสมบัติกีตาร์ได้ 
3.ใช้ความรู้นี้ออกแบบกีตาร์หรือเสียงที่เราต้องการขึ้นมาใหม่
4.ใช้เป็นแนวทางพัฒนาการทำกีตาร์ เช่น อาจทำตัวเสียงมาตรฐานไว้ตัวหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติเสียง ทุกครั้งที่ทำตัวใหม่เสร็จ นำตัวใหม่และตัวเสียงมาตรฐานมาเปรียบเทียบกันในคุณสมบัติเสียงต่างๆกันในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น ห้องลองเสียงเดียวกันเป็นต้น
เป็นต้น




แหล่งความรู้เพิ่มเติม
-(1)  The Acoustic Guitar Guide โดย Larry Sandberg หน้า 42
-เรื่อง Overtone และ Harmonic https://www.youtube.com/watch?v=YsZKvLnf7wU
-เรื่อง ADSR  https://www.youtube.com/watch?v=oaP9hCtVXvE
-เรื่อง ASD http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-Ascoustics for violin and guitar makers,past 1 หัวข้อ 1.2 Time history of the sound
-http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-เรื่อง Tornavoz https://www.youtube.com/watch?v=HYzMp9uBrlo

Friday, October 16, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์ ตอนที่ 2

     จากยอด Page views อาทิตย์ที่แล้ว มีคนสนใจหัวข้อ "เรื่องของเสียงกีตาร์" มากพอสมควร ทำให้ผมมีกำลังใจ และมีความอยากเขียนเรื่องต่อไปเรื่อยๆ และ ถ้าใครมีคำถามเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับกีตาร์สามารถสอบถามเข้ามาได้นะครับ ใน message box ทาง Facebook  

     วันนี้เรามาต่อหัวข้อที่เหลือกัน

Dynamic Range

     Dynamic Range เป็นช่วงของระดับเสียง(Volume)เบาสุดถึงดังสุดของกีตาร์ที่สามารถให้ได้ โดยที่คุณภาพของเสียงกีตาร์ยังดีอยู่ เช่น ถ้าเล่นเบาคุณภาพเสียงควรเหมือนกับเล่นที่ความดังปลานกลาง ได้ยินชัด เสียงไม่แกว่ง หางเสียงยาวเท่าๆ กัน  หรือ ถ้าเล่นเสียงดัง เสียงไม่แตก เป็นต้น   กีตาร์ที่ดี ควรมี Dynamic Range กว้างเพราะในบทเพลงต้องใช้ความดังเบาที่แตกต่างกันสร้างอารมณ์ให้หลากหลาย      นอกจากนี้ระดับเสียงที่ดังขึ้นต้องตอบสนองต่อผู้เล่นในทุกๆ ระดับเสียง ยิงละเอียดยิ่งดี ประมาณ ว่า ถ้าเปรียบกับเสกลของไม้บรรทัด อันที่ 1 บอกในระดับเซนติเมตร กับ อันที่สองบอกละเอียดถึงระดับ มิลลิเมตร ในระยะ 10 เซนติเมตรเท่ากัน(ใน Dynamic Range เท่ากัน) ไม้บรรทัดอันที่ 1 มี 10 ช่วง แต่อันที่สองมีถึง 100 ช่วง


Separation

     Separation  เป็นความสามารถของเครื่องตนตรีที่แสดงออกมาเมื่อเล่นโน็ตพร้อมกัน โดยโน็ตทั้งหมดจะถูกรับรู้อย่างชัดเจนและเป็นเอกเทศมากกว่าการผสมกัน เช่น เมื่อเราตีคอร์ดถ้า separation ดี จะได้ยินเสียงแต่ละตัวโน้ตแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้เสียงกีตาร์มีมิติมากขึ้น หรือ ในบทเพลงแต่ละบทเพลงต้องมีลายประสาน ทำนองหลัก ลายเบส กรณีนี้บางครั้งมีการเล่นโน๊ตพร้อมๆ กัน กีตาร์มี separation ดีทำให้ผู้เล่นกีตาร์คุมเสียงได้ง่ายขึ้น และผู้ฟังสามารถฟังเสียงแต่ละลายประสานเสียงได้ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอรรถรสในการฟังบทเพลงนั้นๆ


Balance

    Balance แปลว่า "ความสุมดล ความคงที่" ในทางกีตาร์ balance เป็นความสัมพันธ์ระหว่างโน๊ตระดับเสียงต่ำและระดับเสียงสูง(Pitch)ในรูปแบบของ ระดับเสียง(Volume) และ ความสมบูรณ์ของตัวโน๊ต(Fullness) ที่มีความสม่ำเสมอกันตลอดช่วง  เช่น กรณีเสียงกีตาร์ไม่ balance ในช่วงโน๊ตเสียงต่ำอาจเรียกว่าเสียง boomy ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่มีย่านความถี่ต่ำดังเกินไป เมื่อเราเล่นตัวโน๊ตความถี่ต่ำจะมีความดังกว่าปกติเมื่อเทียบกับโน๊ตในย่านความถี่อื่นๆ
     เพื่อให้เห็นภาพชัดลองนึกถึง Equalizer(EQ) สำหรับการมิกซ์เสียงดนตรี  ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชนิด
ต้องการความเด่นของช่วงความถี่ต่างๆ กัน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกัน โดยทั่วไปกีตาร์ ตัวมันเองไม่สามารถปรับ balance แต่การติดภาคขยายเสียงที่มี EQ อาจช่วยในการปรับ balance ของเสียงกีตาร์ได้บ้าง และกีตาร์แต่ละตัวมีความ balance ในแต่ละย่านความถี่ต่างกันสาเหตุหนึ่งเนื่องจากปริมาตรของตัวกีตาร์(Sound box)ที่มีขนาดต่างกัน ถ้ามีปริมาตรใหญ่จะมีแนวโนัมย่านความถี่ต่ำ ถ้าปริมาตรเล็กจะมีแนวโน้มในย่านความถี่สูง ซึ่งมีประโยชน์ในการเล่นแบบ ensemble กีตาร์บางตัวเด่นในย่านความถี่ต่ำเหมาะสำหรับลายเบส ส่วนที่มีความเด่นในย่านความถี่สูงเหมาะสำหรับโซโล เป็นต้น


Ambience

     Ambience แปลว่า สภาพแวดล้อม คำนี้อธิบาย เสียงของกีตาร์ที่สภาพแวดล้อมต่างกันว่าออกมาต่างหรือเหมือนกันอย่างไร สำหรับกีตาร์ตัวเดียวกัน เช่น เมื่อเล่นกีตาร์ในห้องขนาดที่ไม่เท่ากัน หรือ ห้องที่มีวัสดุไม่เหมือนกัน ห้องที่มีสภาพความร้อนชื้นต่างๆ กัน ความแตกต่างเหล่านี้มีผลต่อเสียงกีตาร์ไม่มากก็น้อย เช่น บางครั้งอาจรู้สึกเสียงกีตาร์มีพลังน้อยลง การตอบสนองช้าลง เป็นต้น กีตาร์ทีดีควรมีความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน น้อย เพราะผู้เล่นจะควบคุมเสียงกีตาร์ได้ตามประสงค์

       ครั้งหนึ่งผมได้ถามนักเล่นกีตาร์ว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้กีตาร์ที่เขาเล่นอยู่ คำตอบของเขาคือ เพราะกีตาร์ตัวนี้ไม่ทำให้เขาผิดหวังในทุกสถานที่ที่เขาไปแสดง(เขาเดินทางแสดงทั่วโลก)และ กีตาร์สามารถให้เสียงที่เขาต้องการได้

      ที่เหลือ เรื่อง Sustain Present Wraparound&Projection ขอต่อเป็นตอนที่่ 3 ครับ เพราะยิ่งค้นยิ่งอ่านเนื้อหาเริ่มเยอะ


แหล่งความรู้เพิ่มเติม
-เรื่อง Equalizer https://www.youtube.com/watch?v=0d_1iGthE7c&list=PLDD3B01BC3DAEF5F5

Saturday, October 10, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์(ตอนที่ 1)

       บ่อยครั้งนักเล่นกีตาร์ลองกีตาร์แล้วมีความเห็นว่า เสียงดี หรือเสียงไม่ดี เคยสงสัยหรือไม่คำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" เป็นอย่างไร  บางครั้งบอกว่า ดี ด้วยความเกรงใจ บางครั่งบอกไม่ดีตรงๆ แต่พอถามไปว่า"อย่างไร" น้อยคนนักที่อธิบายได้ เหตุผลที่อาจอธิบายไม่ได้ เพราะภาษาพูดไม่สามารถอธิบายเสียงกีตาร์ได้ แต่เป็นความจริงเพียงด้านเดียว เพราะยังมีคนพยายามอธิบายเรื่องเสียงให้เข้าใจได้ตรงกัน โดยใช้แนวทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษา ในฐานะผู้สร้างและผู้ชำนาญในเรื่องกีตาร์  อย่างน้อยเราควรอธิบายผลงานของตัวเองได้
     คำอธิบายเสียงกีตาร์อาจแบ่งเป็นหมวดคำ พื้นฐานเรื่องอคูสติก ได้แก่ Timbre Pitch Volume และหมวดคำที่แสดงลักษณะเสียงกีตาร์ซึ่งนำความเข้าใจในหมวดแรกมาอธิบายเพิ่มเติมได้แก่ Presence, Dynamic Range, Separation, Balance, Sustain, Wraparound&Projection ดังนี้

Timbre
    Timbre อ่านว่า"TAM-brah" เป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศษ ตรงกับคำว่า Tone quality,Tone colour. หรือภาษาไทยเรียก "สีสันเสียง" มีความหมายว่า  เป็นสิ่งที่ช่วยแยกแยะคุณภาพของเสียงหรือแยกแยะเครื่อง ดนตรี เสียงร้องออกจากกันได้ Oxford Concise Dictionary of Music.(1995 : 738) (1) ไม่เพียงแยกแยะเครื่องดนตรีออกจากกันเท่านั้น ยังลงลึกถึงการให้เสียงที่แตกต่างกันในเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันด้วย เช่น กีตาร์คลาสสิก เมื่อดีดตำแหน่งต่างกันส่งผลให้เสียงต่างกันด้วย หรือแม้แต่ดีดตำแหน่งเดียวกันแต่ใช้มุมเล็บต่างกัน เสียงก็ต่างกัน  ผู้ประพันธ์เพลงและนักเล่นกีตาร์นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันในบทเพลง
   ตัวอย่างคำที่ใช้แสดงลักษณะของเสียงกีตาร์ได้แก่ dark(มีความมืดมน) bright(ความสว่างสดใส) opaque(ทึบ) transparent(ใสแบบแสงผ่าน) warm(ความสว่างอบอุ่น) dull(มัว)  sharp(เสียงที่ชัดเจน) mellow(อ่อนหวานจับใจ) harsh(แหบกระด้าง) clear(ความใสชัดเจน) rounded(ออกมากลม) flat(แบน) เป็นต้น
  ในประเทศแคนนาดามีการศึกษากันจริงจัง มีงานวิจัยของคุณ Caroline Traube ได้รวมรวมคำต่างๆที่ใช้อธิบายลักษณะของเสียงไว้เป็นร้อยคำ  จัดหมวดหมู่คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมีการอธิบายความหมายแต่ละคำ เปรียบเทียบกับต่ำแหน่งดีดบนสายกีตาร์และตำแหน่งการออกเสียง(Phonetic)ในช่องปาก สนใจลองอ่านดูในลิงค์นี้ An interdisciplinary study of the timbre of the classical guitar


ตัวอย่างรูปภาพ จากงานวิจัยเรื่อง An interdisciplinary study of the timbre of the classical guitar คำทางซ้ายมือล่างแสดงลักษณะของเสียงตำแหน่งดีดใกล้จุดกึ่งกลางสาย ส่วนในทางขวาบนแสดงลักษณะของเสียงตำแหน่งดีดใกล้ Bridge

Pitch
     Pitch ตรงกับภาษาไทยว่า "ระดับเสียง" เป็นคุณสมบัติ ความทุ้ม แหลม ของเสียง โดยเกิดจากความถี่ต่างกัน ความถี่สูงเสียงแหลม(เสียงสูง) ความถึ่ต่ำเสียงทุ้ม(เสียงต่ำ) เช่น เสียงมีความถึ่ 440 ครั้งต่อวินาที หรือ 440 Hertz(Hz) (เฮิร์ทซ์) เป็นเสียงตัวโน้ตลา(A4)   ระดับเสียงต่ำสุดของกีตาร์คือ เสียง E สาย 6 มีความถี่ 82.41 Hz เป็นต้น หูคนเราฟังย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 20 Hz- 20,000 Hz
     สำหรับกีตาร์การกำหนดระดับเสียงขั้นอยู่กับระยะ ความสั่น ยาว ของสายกีตาร์เป็นตัวกำหนด ถ้าสายมีความยาวจะให้ระดับเสียงต่ำ ถ้าสายมีขนาดสั้นเสียงจะให้ระดับเสียงสูง หรือการกดที่ตำแหน่ง Fret ที่ต่างกันนั่นเอง 

Volume
     Volume คือ ระดับความดัง เบา ของเสียง มีหน่วยเป็น เดซิเบล(dB) ระดับที่หูเรา เริ่มได้ยินคือ 0 dB ได้ยินดังสุดที่ไม่เจ็บหู 120 dB, การจราจรแออัดประมาณ 80 dB การพูดคุยประมาณ 60 dB ในห้องสมุดประมาณ 20 dB เสียงกรอบแกรบของใบไม้ประมาณ 20 dB เป็นต้น
     ระดับความดัง เบา เป็นคุณสัมบัติสำคัญของกีตาร์ขึ้นอยู่กับความอิสระในการสั่นของไม้หน้าซึ่งถูกขับ(Driven) ด้วยสาย มีหลายปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่  คุณภาพและความหนาของไม้หน้า รุปแบบBrace คุณภาพไม้หลังและไม้ข้างซึ่งเป็นตัวสะท้อนเสียง(Resonator) ชนิดสายกีตาร์ขนาดและความตึงของสาย ปริมาตรของตัวกีตาร์ เป็นต้น

ในครั้งหน้าเราจะมาต่อกันในหัวข้อที่เหลือครับ



แหล่งศึกษาเพิ่มเติม
-(1) สีสันเสียง(timbre/tone colr/tone quality)  โดย ผศ.ดร ศักดิ์ชัย  หิรัญรักษ์
-http://www.rmutphysics.com/physics/oldfront/95/sound1/sound_1.htm
-The Acoustic Guitar Guide โดย Larry Sandberg.


 

Saturday, October 3, 2015

ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง (ตอน 3)

   บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายในเรื่อง"ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง"อาจยาวกว่าตอนที่ผ่านมาเพราะหลายตอนไปเกรงว่า ผู้อ่านจะเบื่อ   2 ตอนแรกหวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้ความเข้าใจบางอย่างในอาชีพนี้มากขึ้น วันนี้ต่อกันอีก 3 เรื่องคือ
  
5 งานไม้( Woodwork)
    ย้อนไปเมื่อปี 2008 ผมมีโอกาสไปโตเกียวเพื่อเรียนรู้การทำกีตาร์จากคุณ Yuichi Imai ช่างทำกีตาร์ชาวญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 อาทิตย์ ความประทับใจที่สุดคือ ฝีมือการใช้เครื่องมืองานไม้ โดยเฉพาะพวกของมีคม กบ สิ่ว มีดญี่ปุ่น  มันคมจริงๆ ความคมนี้ได้จากการลับด้วยมือทั้งหมด รอยต่อไม้เกือบทั้งหมดเป็นรอยต่อของผิวที่จบด้วยคมมีด เช่น การปิดไม้หลัง ก่อนติดกาวเพื่อปิดไม้หลังปกติช่างทำกีตาร์ทั่วไปใช้จานโค้งกระดาษทรายปรับผิวเพื่อให้ผิวสัมผัสระหว่างไม้ข้างและไม้หลังเรียบพอดีกัน แต่คุณ Imai ใช้กบท้องโค้งปรับผิว หลังจากนั้นจึงติดกาวโดยไม่ต้องใช้กระดาษทราย หรือแม้แต่โคังใต้ Bridge ก่อนติดกาวกับไม้หน้าได้รับการปรับโค้งโดยคมของใบกบเช่นกัน คุณ Imai มีกบประมาณ 10 ตัวใช้งานต่างๆกัน ในขั้นตอนการทำกีตาร์ทั้งหมด มีเพืยง 2 จุดในการติดกาวที่ใช้กระดาษทรายขัดก่อนติดกาวคือ Brace กับไม้หน้า และ  Back bar กับไม้หลัง แต่เป็นการขัดเพียงด้านเดียวคือ ขัดที่ไม้หน้า และ ไม้หลัง  หลังจากเห็นฝีมืองานไม้คุณ Imai ผมเห็นปัญหาในการทำกีตาร์ของตัวเอง ผมจึงเริ่มฝึกการใช้เครื่องมืองานไม้เพิ่ม ซื้อหนังสือเฉพาะทางมาอ่าน เช่น เกี่ยวกับกบ 1 เล่ม เกี่ยวกับการลับคม 1 เล่ม เป็นต้น
    มีข้อสังเกตจุดหนึ่งสำหรับกีตาร์ดีๆ ส่วนใหญ่มีความปราณีต และสวยงาม สิ่งที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าช่างทำกีตาร์ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับงานไม้ บางครั้งมีคนถามว่า อยากทำกีตาร์จำเป็นไหมที่ต้องเป็นงานไม้มาก่อน คำตอบคือไม่จำเป็นแต่ต้องมาฝึกเพิ่มเติมให้ถึงขั้นที่เรียกว่า ชำนาญ 
   เรื่องงานไม้มีรายละเอียดดังนี้
    การใช้เครื่องมือ พวกอุปกรณ์(Hand tool)ได้แก่ กบ สิ่ว ฆ้อน เลื่อย เครื่องมือวัด เป็นต้น เครื่องมือไฟฟ้า(Power tool)ได้แก่ เครื่องเลื่อยสายพาน เครื่องขัดกระดาษทรายตั้งโต๊ะ แท่นสว่าน เป็นต้น รวมถึงการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง การลับคม ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ
   ทักษะงานไม้ ในเรื่อง การวัดและการกำหนดเส้น การเข้าไม้รูปแบบต่างๆ(Jointing)  เทคนิคงานไม้ศึกษาวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานไม้ได้แก่ กาว พุก เดือย ตะปูแบบต่างๆ  เป็นต้น
  งานเคลือบรักษาผิวไม้   การบวนการการเคลือบรักษาผิวได้แก่ การเตรียมผิว(Sanding) การเปิดรูเสี้ยน(Open porous) การอุดรูเสี้ยน(Fill porous) การรองพื่น(Sealing) การสร้างเนื้อ(Build layer) การขัดผิว(Rubbing)  สำหรับการทำกีตาร์วัสดุการเคลือบรักษาผิวไม้ที่นิยมได้แก่ ยูรีเทน(Urethane)  แล็คเกอร์(Lacquer) และ เชลแล็ก(Shellac)
    แหล่งเรียนรู้
หนังสือ ช่างไม้ในบ้าน โดย ศิระ จันทร์สวาสดิ์,ศานิต ปันเขื่อนขันติย์,สุพัตร์ ศรีพงษ์สุทธิ์
หนังสือ Making & Mastering Wood Planes โดย David Finck
หนังสือ Complete Guide to Sharpening โดย Leonard Lee
หนังสือ Essential Guide to Woodwork โดย Chris Simpson
   
6ประวัติศาสตร์กีตาร์(Guitar history)
     การศึกษาประวัติศาสตร์กีตาร์ไม่เพียง เกี่ยวกับตัวกีตาร์อย่างเดียว รวมถึงประวัติช่างทำกีตาร์ ประวัตินักเล่น ด้วย เพราะทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน ถ้ากีตาร์สายเหล็กควรอ่านประวัติการทำกีตาร์ของกีตาร์ Matin หรือถ้ากีตาร์คลาสสิกควรอ่านประวัติ Antonio de Torres   ประโยชน์จากประวัติกีตาร์ทำให้รู้พัฒนาการของกีตาร์ในแต่ละยุคสมัย เข้าใจในเรื่องแบบกีตาร์มากขึ่น ซึ่งหมายถึง ในการทำกีตาร์ปัจจุบันเริ่มทำกีตาร์ 1ตัว ต้องมีแบบโครงสร้าง(Guitar plan) เราสามารถทำให้เหมือนตามแบบได้แต่เสียงอาจไม่ใช่ ถ้าเรารู้ถึงที่มาที่ไปของโครงไม้แต่ละตัวว่าพัฒนาการมาอย่างไรจุดไหนสำคัญ อาจถึงขั้นรู้ที่มาแนวความคิดและออกแบบของช่างทำกีตาร์ในอดีต ซึ่งในภายหน้าเราสามารถทดลอง ออกแบบตามกรอบความเข้าใจและค่านิยมตามแต่ละยุคสมัยได้  
     แหล่งเรียนรู้
หนังสือ Antonio de Torres Guitar Maker-His life&Work โดย  Jose L. Romanillos
หนังสือ Inventing The American Guitar โดย  Robert Shaw & Peter Szego
หนังสือ The Granada School of Guitar-Makers โดย  Alberto Cuellar,David Gansz,Aaron Garcia,Angelo Gilardino,Javier Molina
หนังสือ Guitar Music,History,Construction and Players From the Renaissance to Rock โดย  Tom and Mary Anne Evans
เป็นต้น

7ภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน(Language) 
     ในปัจจุบันภาษาที่ 2 หรือ 3 เป็นเรื่องสำคัญแทบทุกสาขาอาชีพ ช่างทำกีตาร์เช่นเดียวกัน เพราะการทำกีตาร์ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเป็นที่แรก ต้นกำเนิดการทำกีตาร์อยู่ทางตะวันตก สเปนและอเมริกา ความรู้ต่างๆ มาจากหนังสือ วีดีโอ หรือแม้แต่การไปเรียนในต่างประเทศต้องใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน 
  ภาษาอังกฤษ มิใช่เป็นเพียงสื่อในการเรียนรู้อย่างเดียว เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปร่วมงานกีตาร์ในต่างประเทศเพื่อขายงาน ต้องใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน

    สรุปทััง 7 เรื่องที่กล่าวมานั้น สำคัญมากน้อยต่างกันไป แต่นี้แค่สำหรับผู้เริ่มต้นที่ดีเท่านั้น รายละเอียดในอาชีพนี้ยังมีอีกมาก ที่สำคัญเราควรเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดช่วงชีวิต
    

Sunday, September 27, 2015

ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง (ตอน 2)

      สวัดีดีครับ หลังจากบทความในตอนที่ 1 ได้เผยแพร่ออกไปได้รับความสนใจมาก ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย วันนี้มาต่อในหัวข้อที่ 3 และ 4 ครับ
      
     3 ความรู้เรื่องไม้ (wood property)
   ความรู้เรื่องไม้สำหรับช่างทำกีตาร์มีความจำเป็น เปรียบกับ คนปรุงอาหารถ้าไม่รู้จักคุณสมบัติวัตถุดิบสำหรับนำมาใช้แล้วจะทำอาหารออกมาดีได้อย่างไร ความรู้เรื่องไม้โดยทั่วไปเป็นเรื่องคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ลักษณะโครงสร้าง ความหนาแน่น ความแข็ง การนำเสียง การหดขยาย ความชื่นในเนื้อไม้ เป็นต้น หรือแม้แต่เรื่องชื่อทางวิทยาศาสตร์ การเจริญเติบโตของต้นไม้ วิธีการเก็บไม้ แหล่งกำเนิดของไม้ ก็สำคัญเช่นกัน เราสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพการกีตาร์ได้ 
    ตัวอย่างแรกเรื่องแหล่งกำเนิดของไม้ เช่นไม้ Indian rosewood. แหล่งกำเนิดในอินเดีย เราควรชื้อจากแหล่งกำเนิดเพราะราคาถูกกว่าที่ซื้อจากร้านขายไม้ในอเมริกา และยุโรป
      อีกตัวอย่าง ไม้สำหรับทำเครื่องดนตรีควรตัดแบบ quarter saw(เลื่อยตามรัศมี) และไม่ run out (เกิดมุมเสี้ยน) เพราะเมื่อไม้หดหรือขยายตัว ไม้จะทรงรูปไว้เหมือนเดิมหรือเกิดการบิดเบี้ยวน้อยที่สุด เมื่อนำมาประกอบกันกีตาร์จะอยู่ทรง ไม่บิดเบี้ยวง่ายเมื่อความชื้นในอากาศเปลี่ยนแปลง(ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กีตาร์แตก) และการตัดลักษณะนี้ ไม้จะมีความแข็งแรงที่สุดและใสกบง่ายไม่เกิดการย้อนเสี้ยน ส่วนเรื่องความเร็วเสียงผ่าน การตัดลักษณะนี้เสียงผ่านได้เร็วที่สุด ส่งผลให้กีตาร์มีการตอบสนองไวต่อผู้เล่น เป็นต้น
      จากสองตัวอย่างข้างต้นเป็นการนำความรู้เรื่องไม้มาอธิบาย ทำให้มีความเข้าใจยิงขึ้นและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่นกัน  
     แหล่งความรู้
-หนังสือ คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของเนื้อไม้ โดย วิรัช ชื่นวาริน,ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,ในหน้า 263-288 เรื่องสมบัติที่เกี่ยวกับเสียง เขียนเรื่องเครื่องดนตรีไว้น่าสนใจ ,ฉบับ e-book 
-หนังสือ Understanding Wood: A Craftsman's Guide to Wood Technology by R.Bruce Hoadley
เป็นต้น.

     4.ศึกษาการเล่นกีตาร์ (Guitar Play)
     ผมใช้คำว่าศึกษาการเล่นกีตาร์ เป็นคำมีความหมายกว่้าง ตั้งแต่
- การฝึกเล่นกีตาร์
   ช่างควรเล่นกีตาร์ได้ อย่างน้อยเพื่อทดสอบเสียงกีตาร์หลังจากทำเสร็จ อาจเล่นไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ในบางครั้ง ผู้มาซื้อกีตาร์เล่นไม่ค่อยเป็น ช่างควรเล่นได้บ้างสักเพลงเป็นการแสดงศักยภาพเสียงกีตาร์ เพื่อเสริมความมั่นใจของผู้มาซื้อ
-เรียนรู้วีธีการเล่นกีตาร์
   ช่างบางคนเล่นกีตาร์ไม่เป็น แต่ต้องรู้ว่าเสียงอย่างไรที่ผู้เล่นต้องการ รู้ว่าขนาด Nut  รูปแบบคอ ระยะระหว่างสาย ความสูงของสาย scale ที่แตกต่างกัน  มีผลต่อผู้เล่นอย่างไร เพราะตั้งแต่อดีตนั้น ส่วนใหญ่การพัฒนาการของกีตาร์เกิดจากความต้องการของผู้เล่น ช่างทำกีตาร์มีหน้าที่คิดและทำกีตาร์ที่สนองความต้องการของผู้เล่น
-ฟังเพลง
  เนื่องจากเพลงมีหลายแนวซึ่งในแต่ละแนวต้องการเสียงกีตาร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นกีตาร์ 1 ตัวไม่อาจตอบสนองได้ทุกแนว ผู้เล่นกีตาร์มืออาชีพบางครั้งไม่ได้มีกีตาร์เพียงตัวเดียว จึงเป็นโอกาสของช่างทำที่ต้องทำกีตาร์เสียงในลักษณะต่างกัน บางครั้งต้องคุยกับผู้เล่นว่าต้องการเสียงกีตาร์อย่างไร และพยายามศึกษาและทำให้ได้
     แหล่งความรู้
-หนังสือเรียนเล่นกีตาร์
-โรงเรียนสอนเล่นกีตาร์
-คุยกับศิลปินกีตาร์ในงานกีตาร์
   
     ในครั้งหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของหัวข้อนี้ เหลืออีก 3 หัวข้อ ติดตามกันต่อไปครับว่าเป็นเรื่องอะไร?





Monday, September 21, 2015

ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง (ตอน 1)

     สวัสดีครับ บทความนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพช่างทำกีตาร์ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า "Guitar maker" ,"Luthier" หรือ ในภาษาสเปน"Guitarrero"  คำว่า Guitar maker และ Guitarraro มีความหมายเหมือนกันคือ ช่างทำกีตาร์ ส่วนคำว่า Luthier รากศัพท์เดิมมาจากภาษาฝรั่งเศษ "Luth"(1)  Luthier มีความหมายว่า ช่างทำและซ่อมเครื่องสาย อาจเป็น Guitar Violin Lute เป็นต้น แบ่งเป็นสองสายช่าง ได้แก่ ช่างทำเครื่องสี(ฺBowed instrument) และ ช่างทำเครื่องดีด(Plucked instrument)  โดยสรุปคำว่า Luthier มีความหมายกว้างและครอบคลุมกว่า guitar maker
    บทความแรกและคิดว่าสำคัญต่อช่างทำกีตาร์ที่ควรรู้ คือ ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นมืออาชีพ(ไม่ใช่ศิลปินหรือ Artist อย่างที่คนทั่วไปคิด) ผมแบ่งเป็นหัวข้อ 7 หัวข้อดังนี้

     1 การทำกีตาร์ (Guitar making)
       เป็นหัวใจสำคัญที่สุด การทำกีตาร์ เป็นการเรียนรู้ถึงขั้นปฏบัติการกระบวนการทำกีตาร์ ตัังแต่ การหา,การเลือกและการเตรียมวัตถุดิบ(Material preparing)   การขึ้นรูป เตรียมชินงาน(Guitar part preparing) การประกอบ(Assembly) การเคลือบรักษา(Finishing) และ การปรับแต่ง(Set up)   การเรียนรู้การทำกีตาร์ทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ เรียนโดยตรงจากช่างทำกีตาร์  อ่านหนังสือ พูดคุยขอคำแนะนำจากช่าง เรียนรู้ทางคลิปวีดีโอจากทางอินเตอร์เน็ท เป็นต้น
    แหล่งเรียนรู้
-หนังสือ Guitar Making Tradition and Technology โดย Jonathan Natelson และ William Cumpiano 
-หนังสือ Making Master Guitars โดย Roy Courtnall
-หนังสือ Classical Guitar Making: A Modern Approach to Traditional Design โดย John S. Bogdanovich
-เรียนทางเว็บไซต์ O'Brien Guitars Online Courses. 
-เรียนทำกีต้าร์ในประเทศไทยมีราคาตั้งแต่ 35000-90000 บาท
      เชียงใหม่ -ช่างหนุ่ม
-เรียนทำกีตาร์ในต่างประเทศ
        Malaysia -Jeffrey Yong
        Spain -Henner Hagenlocher Granada Luthier School
เป็นต้น. 
 
     2.ทฤษฎีอคูสติกของกีตาร์ (Guitar Acoustic)
        อคูสติกของกีตาร์ศึกษาเกี่ยวกับ เรื่องของพื้นฐานของเสียง คุณภาพของเสียง การกำเนิดเสียง การได้ยินของหู คุณสมบัติของสายกีตาร์ การทำงานของกีตาร์  ธรรมชาติการสั่นของไม้ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ช่วยในการเรียนรู้ เพื่อเสริมความเข้าใจการทำกีตาร์ ช่วยให้แยกแยะออกว่า เสียงอย่างไรดี อย่างไรไม่ดี โดยมีเหตุผลอธิบายที่ชัดเจนผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ตรงกัน และช่วยให้เรามีแนวทางพัฒนากีตาร์ของเราให้ดียิ่งขึ้น เช่น ความรู้เรื่องการสั่นพื้นฐานของไม้ นำไปประยุกต์สำหรับการ Tap tone ทำให้รู้ตำแหน่งที่จับแล้วไม่รบกวนการสั่นของไม้ เพื่อให้เราได้ยินคุณภาพเสียงการสั่นของไม้ได้เต็มที่ และความรู้เรื่องคุณภาพของเสียง ทำให้เรารู้ว่าจะฟังอย่างไร อย่างเข้าใจ เป็นต้น
   แหล่งเรียนรู้
-เว็บไซต์ Acoustic for violin and guitar maker จาก KTH School of Science and Communication
-เว็บไซต์ Guitar acoustic จาก UNSW Australia (The University of New South Wales)
 
   วันนี้ขอจบเพียง 2 หัวข้อครับ พบกันคราวหน้าผู้เขียนจะพยายามเขียนให้ได้อย่างน้อย 1 เรื่องต่อ 1 อาทิตย์ หวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้และความเข้าใจยิ่งขึ้น พบกันในตอนต่อไป

อ้างอิง
(1)    https://en.wikipedia.org/wiki/Luthier