Monday, October 26, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์ตอนที่ 3 (จบ)

     สวัสดีครับวันนี้มาต่อในหัวข้อที่เหลือ อาจจะดูวิชาการหน่อยแต่ไม่ยากกว่าที่จะเข้าใจครับ

Sustain
     โดยทั่วไปคำว่า Sustain ที่เราเข้าใจกัน คือความยาวของเสียงกีตาร์หลังจากดีดจนเสียงเงียบลง
 คราวนี้ลองมาดูความหมายลึกๆ กันบ้าง Sustain เป็นเรื่องของเสียง ซึ่งมีเรื่องของเวลาเข้ามา
เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อ Envelope of Sound(เกี่ยวกับการเกิดเสียงตั้งแต่เริ่มดังขึ้น จนเสียง
เงียบหายไป) Envelope of Sound มีอาจหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมนำมาอธิบายมี 2 แบบได้แก่

แบบที่ 1 ใช้อธิบายเกี่ยวกับเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วน  ส่วนคือ Attack Sustain และ Decay 

รูปที่ 1 จากเวบไซต์ http://filmsound.org/  กราฟแสดงการดำเนินของเสียงโดยแกนตั้ง(X)เป็นระดับความดังเสียง แกนนอน(Y)เป็นเวลา ลองจินตนาการถึงการดีดสายกีตาร์ เมื่อเริ่มดีดที่จุด A จากนั้นเสียงเริ่มดังจนถึงดังสุดที่จุด B ช่วงนี้เรียกว่า Attack จากนั้นเสียงจะคงตัวอยู่สักระยะหนึ่งถึงจุด C เรียกช่วงนี้ว่า Sustain และเสียงจะค่อยๆ เบาลงที่จุด C และหายไป จุด D ช่วงนี้เรียกว่า Decay 

แบบที่ 2 ใช้อธิบายเสียงในเรื่อง Synthesizer ซึ่งเป็นการจำลองเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงเครื่องดนตรี
ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ Attack Decay Sustain และ Release หรือเรียกสั้นๆ ว่า ADSR


รูปที่ 2 จากเวบไซต์ http://my.visme.co/projects/audio-basics-03c4ac เริ่มจาก Attack เป็นช่วงตั้งแต่เริมเกิดเสียงถึงเสียงดังสุด ช่วงต่อมาคือ Decay เป็นช่วงที่เสียงดังสุดเริ่มเบาลง และเข้าสู่ช่วงที่เสียงมีความดังคงที่เรียก Sustain จากนั้นเป็นช่วงเสียงเบาและเงียบไปเรียก Release
     ในภาพรวมแบบที่ 1 และ 2 มีความคล้ายกัน  ต่างกันแค่หลังช่วง Attack ที่มีช่วง Decay(แบบที่2) เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น และการใช้ชื่อเรียกต่างกันในช่วงสุดท้าย Decay(แบบที่1) กับ Release (แบบที่2)
     มีคำศัพท์บางคำอาจได้ยินคุ้นหูได้แก่ Fast Attack ซึ่งหมายถึง การเกิดเสียงถึงจุดดังสุดด้วยระยะเวลาที่สั้นในช่วง Attack เช่น เสียงกระแทกประตู เสียงปืน เสียงตบมือ เป็นต้น 

      Sustain มีความสำคัญต่อเครื่องดนตรี  ส่วนใหญ่นักเล่น ต้องการ Sustain ที่ยาวเพื่อใช้ในการเล่นโน้ต และคอร์ด บางคนอาจใช้คำพูดว่า "Singing Quality" ในการอธิบายเรื่อง Sustain ได้เช่นกัน แต่ Sustain ที่ยาวในบางกรณี ไม่จำเป็นต่อนักกีตาร์บางแนวที่ใช้กีตาร์ในการเล่นแบบ Percussive(เน้นเล่นเป็นจังหวะ) เช่น การเล่นในแนวกีตาร์ Flamenco นักเล่นต้องการ Sustain สั่นกว่า หรือ กีตาร์ Archtop ใช้เล่น Rhythm sectionในวงดนตรีสำหรับเต้นรำในช่วงปี 1930-1940 (1) เป็นต้น
     ในการทำกีตาร์มีปัจจัยที่มีผลต่อ Sustain หลายอย่าง เช่น น้ำหนักของไม้หน้า ถ้าน้ำหนักไม้หน้าเบาการสั่นจะดีกว่าทำให้ Sustain ยาว, การติดตั้ง Saddle และ Nut ที่ดี(พอดีกับร่องของมัน)จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานที่ส่งจากสายไปขยับไม้หน้าส่งผลให้ Sustain มากขึ้น, การตั้ง Action (ความสูงของสายกีตาร์) Action ต่ำส่งผลให้ Sustain สั้นลง, ผู้เล่นมีส่วนเช่นกันในการเพิ่ม Sustain ให้ยาวขึ้นโดยใช้เทคนิคการเล่นแบบ Vibrato ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังงานให้กับการสั่นของไม้หน้า เป็นต้น 




Wraparound&Projection

     Wraparound และ Projection เป็นเรื่อง ทิศทางของเสียงเครื่องดนตรีที่กระจายออกไปบริเวณรอบเครื่องดนตรี Wraparound เป็นทิศทางเสียงที่ได้ยินด้านหลังกีตาร์ก็คือผู้เล่นนั่นเอง ว่าได้เย็นชัดเจนเพียงไร เปรียบเสมือนมอนิเตอร์ มีประโยชน์ให้ผู้เล่นควบคุมคุณภาพเสียงการเล่นของตัวเองได้ ในกีตาร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสายเหล็กนิยมทำ Soundport คือการเจาะรูบริเวณไม้ข้างเพื่อให้ผู้เล่นได้ยินเสียงกีตาร์ได้ดียิ่งขึ้น  ส่วน Projection เป็นทิศทางเสียงที่ออกไปข้างหน้าสู้ผู้ฟัง และ เพื่อนร่วมวง มีความสำคัญมากในกรณีแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิกเมื่อไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการแสดง ในบางครั้งช่างทำกีตาร์ใช้ Tornavoz ติดตั้งที่ sound hole เพื่อการเสริม projection 
   
Presence
     คำว่า Presence ในภาษาอังกฤษแปลว่า การแสดงตน คำนี้อธิบายค่อนข้างเข้าใจยาก เน้นเรื่องความรู้สึก ซึ่งเป็นด้านของผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังอยู่ในห้องคอนเสิร์ตไม่ว่าฟังที่จุดไหนจะได้ยินเสียงกีตาร์ได้ชัดเจน คุณภาพเสียงใกล้เคียงกัน หรือแม้แต่นักกีตาร์เล่นในโน้ตที่เบา คุณภาพเสียงของโน้ตนั้น ผู้ฟังได้ยินชัดเจนเหมือนกับขณะที่นักกีตาร์เล่นในโน้ตเสียงดังปานกลางและดังมาก 




จากเรื่องของเสียงกีตาร์ที่กล่าวมาทั่งหมดประมาณ 10 หัวข้อ มีประโยชน์หลายอย่างเช่น
1.ช่างทำกีตาร์ใช้สื่อสารกับลูกค้า เพราะในการสั่งทำกีตาร์ลูกค้ายังไม่ได้ยินเสียงกีตาร์แต่ต้องตัดสินใจสั่งทำ เพราะฉะนั้นการพูด อธิบาย ความต้องการของลูกค้าและช่างทำกีตาร์ควรเข้าใจชัดเจน หรือถ้าให้ดีควรมีตัวให้ลองก่อน
2.ช่างทำกีตาร์สามารถอธิบายคุณสมบัติกีตาร์ได้ 
3.ใช้ความรู้นี้ออกแบบกีตาร์หรือเสียงที่เราต้องการขึ้นมาใหม่
4.ใช้เป็นแนวทางพัฒนาการทำกีตาร์ เช่น อาจทำตัวเสียงมาตรฐานไว้ตัวหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติเสียง ทุกครั้งที่ทำตัวใหม่เสร็จ นำตัวใหม่และตัวเสียงมาตรฐานมาเปรียบเทียบกันในคุณสมบัติเสียงต่างๆกันในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น ห้องลองเสียงเดียวกันเป็นต้น
เป็นต้น




แหล่งความรู้เพิ่มเติม
-(1)  The Acoustic Guitar Guide โดย Larry Sandberg หน้า 42
-เรื่อง Overtone และ Harmonic https://www.youtube.com/watch?v=YsZKvLnf7wU
-เรื่อง ADSR  https://www.youtube.com/watch?v=oaP9hCtVXvE
-เรื่อง ASD http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-Ascoustics for violin and guitar makers,past 1 หัวข้อ 1.2 Time history of the sound
-http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-เรื่อง Tornavoz https://www.youtube.com/watch?v=HYzMp9uBrlo