Monday, October 26, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์ตอนที่ 3 (จบ)

     สวัสดีครับวันนี้มาต่อในหัวข้อที่เหลือ อาจจะดูวิชาการหน่อยแต่ไม่ยากกว่าที่จะเข้าใจครับ

Sustain
     โดยทั่วไปคำว่า Sustain ที่เราเข้าใจกัน คือความยาวของเสียงกีตาร์หลังจากดีดจนเสียงเงียบลง
 คราวนี้ลองมาดูความหมายลึกๆ กันบ้าง Sustain เป็นเรื่องของเสียง ซึ่งมีเรื่องของเวลาเข้ามา
เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อ Envelope of Sound(เกี่ยวกับการเกิดเสียงตั้งแต่เริ่มดังขึ้น จนเสียง
เงียบหายไป) Envelope of Sound มีอาจหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมนำมาอธิบายมี 2 แบบได้แก่

แบบที่ 1 ใช้อธิบายเกี่ยวกับเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วน  ส่วนคือ Attack Sustain และ Decay 

รูปที่ 1 จากเวบไซต์ http://filmsound.org/  กราฟแสดงการดำเนินของเสียงโดยแกนตั้ง(X)เป็นระดับความดังเสียง แกนนอน(Y)เป็นเวลา ลองจินตนาการถึงการดีดสายกีตาร์ เมื่อเริ่มดีดที่จุด A จากนั้นเสียงเริ่มดังจนถึงดังสุดที่จุด B ช่วงนี้เรียกว่า Attack จากนั้นเสียงจะคงตัวอยู่สักระยะหนึ่งถึงจุด C เรียกช่วงนี้ว่า Sustain และเสียงจะค่อยๆ เบาลงที่จุด C และหายไป จุด D ช่วงนี้เรียกว่า Decay 

แบบที่ 2 ใช้อธิบายเสียงในเรื่อง Synthesizer ซึ่งเป็นการจำลองเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงเครื่องดนตรี
ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ Attack Decay Sustain และ Release หรือเรียกสั้นๆ ว่า ADSR


รูปที่ 2 จากเวบไซต์ http://my.visme.co/projects/audio-basics-03c4ac เริ่มจาก Attack เป็นช่วงตั้งแต่เริมเกิดเสียงถึงเสียงดังสุด ช่วงต่อมาคือ Decay เป็นช่วงที่เสียงดังสุดเริ่มเบาลง และเข้าสู่ช่วงที่เสียงมีความดังคงที่เรียก Sustain จากนั้นเป็นช่วงเสียงเบาและเงียบไปเรียก Release
     ในภาพรวมแบบที่ 1 และ 2 มีความคล้ายกัน  ต่างกันแค่หลังช่วง Attack ที่มีช่วง Decay(แบบที่2) เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น และการใช้ชื่อเรียกต่างกันในช่วงสุดท้าย Decay(แบบที่1) กับ Release (แบบที่2)
     มีคำศัพท์บางคำอาจได้ยินคุ้นหูได้แก่ Fast Attack ซึ่งหมายถึง การเกิดเสียงถึงจุดดังสุดด้วยระยะเวลาที่สั้นในช่วง Attack เช่น เสียงกระแทกประตู เสียงปืน เสียงตบมือ เป็นต้น 

      Sustain มีความสำคัญต่อเครื่องดนตรี  ส่วนใหญ่นักเล่น ต้องการ Sustain ที่ยาวเพื่อใช้ในการเล่นโน้ต และคอร์ด บางคนอาจใช้คำพูดว่า "Singing Quality" ในการอธิบายเรื่อง Sustain ได้เช่นกัน แต่ Sustain ที่ยาวในบางกรณี ไม่จำเป็นต่อนักกีตาร์บางแนวที่ใช้กีตาร์ในการเล่นแบบ Percussive(เน้นเล่นเป็นจังหวะ) เช่น การเล่นในแนวกีตาร์ Flamenco นักเล่นต้องการ Sustain สั่นกว่า หรือ กีตาร์ Archtop ใช้เล่น Rhythm sectionในวงดนตรีสำหรับเต้นรำในช่วงปี 1930-1940 (1) เป็นต้น
     ในการทำกีตาร์มีปัจจัยที่มีผลต่อ Sustain หลายอย่าง เช่น น้ำหนักของไม้หน้า ถ้าน้ำหนักไม้หน้าเบาการสั่นจะดีกว่าทำให้ Sustain ยาว, การติดตั้ง Saddle และ Nut ที่ดี(พอดีกับร่องของมัน)จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานที่ส่งจากสายไปขยับไม้หน้าส่งผลให้ Sustain มากขึ้น, การตั้ง Action (ความสูงของสายกีตาร์) Action ต่ำส่งผลให้ Sustain สั้นลง, ผู้เล่นมีส่วนเช่นกันในการเพิ่ม Sustain ให้ยาวขึ้นโดยใช้เทคนิคการเล่นแบบ Vibrato ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังงานให้กับการสั่นของไม้หน้า เป็นต้น 




Wraparound&Projection

     Wraparound และ Projection เป็นเรื่อง ทิศทางของเสียงเครื่องดนตรีที่กระจายออกไปบริเวณรอบเครื่องดนตรี Wraparound เป็นทิศทางเสียงที่ได้ยินด้านหลังกีตาร์ก็คือผู้เล่นนั่นเอง ว่าได้เย็นชัดเจนเพียงไร เปรียบเสมือนมอนิเตอร์ มีประโยชน์ให้ผู้เล่นควบคุมคุณภาพเสียงการเล่นของตัวเองได้ ในกีตาร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสายเหล็กนิยมทำ Soundport คือการเจาะรูบริเวณไม้ข้างเพื่อให้ผู้เล่นได้ยินเสียงกีตาร์ได้ดียิ่งขึ้น  ส่วน Projection เป็นทิศทางเสียงที่ออกไปข้างหน้าสู้ผู้ฟัง และ เพื่อนร่วมวง มีความสำคัญมากในกรณีแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิกเมื่อไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการแสดง ในบางครั้งช่างทำกีตาร์ใช้ Tornavoz ติดตั้งที่ sound hole เพื่อการเสริม projection 
   
Presence
     คำว่า Presence ในภาษาอังกฤษแปลว่า การแสดงตน คำนี้อธิบายค่อนข้างเข้าใจยาก เน้นเรื่องความรู้สึก ซึ่งเป็นด้านของผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังอยู่ในห้องคอนเสิร์ตไม่ว่าฟังที่จุดไหนจะได้ยินเสียงกีตาร์ได้ชัดเจน คุณภาพเสียงใกล้เคียงกัน หรือแม้แต่นักกีตาร์เล่นในโน้ตที่เบา คุณภาพเสียงของโน้ตนั้น ผู้ฟังได้ยินชัดเจนเหมือนกับขณะที่นักกีตาร์เล่นในโน้ตเสียงดังปานกลางและดังมาก 




จากเรื่องของเสียงกีตาร์ที่กล่าวมาทั่งหมดประมาณ 10 หัวข้อ มีประโยชน์หลายอย่างเช่น
1.ช่างทำกีตาร์ใช้สื่อสารกับลูกค้า เพราะในการสั่งทำกีตาร์ลูกค้ายังไม่ได้ยินเสียงกีตาร์แต่ต้องตัดสินใจสั่งทำ เพราะฉะนั้นการพูด อธิบาย ความต้องการของลูกค้าและช่างทำกีตาร์ควรเข้าใจชัดเจน หรือถ้าให้ดีควรมีตัวให้ลองก่อน
2.ช่างทำกีตาร์สามารถอธิบายคุณสมบัติกีตาร์ได้ 
3.ใช้ความรู้นี้ออกแบบกีตาร์หรือเสียงที่เราต้องการขึ้นมาใหม่
4.ใช้เป็นแนวทางพัฒนาการทำกีตาร์ เช่น อาจทำตัวเสียงมาตรฐานไว้ตัวหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติเสียง ทุกครั้งที่ทำตัวใหม่เสร็จ นำตัวใหม่และตัวเสียงมาตรฐานมาเปรียบเทียบกันในคุณสมบัติเสียงต่างๆกันในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น ห้องลองเสียงเดียวกันเป็นต้น
เป็นต้น




แหล่งความรู้เพิ่มเติม
-(1)  The Acoustic Guitar Guide โดย Larry Sandberg หน้า 42
-เรื่อง Overtone และ Harmonic https://www.youtube.com/watch?v=YsZKvLnf7wU
-เรื่อง ADSR  https://www.youtube.com/watch?v=oaP9hCtVXvE
-เรื่อง ASD http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-Ascoustics for violin and guitar makers,past 1 หัวข้อ 1.2 Time history of the sound
-http://filmsound.org/articles/ninecomponents/9components.htm#attack
-เรื่อง Tornavoz https://www.youtube.com/watch?v=HYzMp9uBrlo

Friday, October 16, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์ ตอนที่ 2

     จากยอด Page views อาทิตย์ที่แล้ว มีคนสนใจหัวข้อ "เรื่องของเสียงกีตาร์" มากพอสมควร ทำให้ผมมีกำลังใจ และมีความอยากเขียนเรื่องต่อไปเรื่อยๆ และ ถ้าใครมีคำถามเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับกีตาร์สามารถสอบถามเข้ามาได้นะครับ ใน message box ทาง Facebook  

     วันนี้เรามาต่อหัวข้อที่เหลือกัน

Dynamic Range

     Dynamic Range เป็นช่วงของระดับเสียง(Volume)เบาสุดถึงดังสุดของกีตาร์ที่สามารถให้ได้ โดยที่คุณภาพของเสียงกีตาร์ยังดีอยู่ เช่น ถ้าเล่นเบาคุณภาพเสียงควรเหมือนกับเล่นที่ความดังปลานกลาง ได้ยินชัด เสียงไม่แกว่ง หางเสียงยาวเท่าๆ กัน  หรือ ถ้าเล่นเสียงดัง เสียงไม่แตก เป็นต้น   กีตาร์ที่ดี ควรมี Dynamic Range กว้างเพราะในบทเพลงต้องใช้ความดังเบาที่แตกต่างกันสร้างอารมณ์ให้หลากหลาย      นอกจากนี้ระดับเสียงที่ดังขึ้นต้องตอบสนองต่อผู้เล่นในทุกๆ ระดับเสียง ยิงละเอียดยิ่งดี ประมาณ ว่า ถ้าเปรียบกับเสกลของไม้บรรทัด อันที่ 1 บอกในระดับเซนติเมตร กับ อันที่สองบอกละเอียดถึงระดับ มิลลิเมตร ในระยะ 10 เซนติเมตรเท่ากัน(ใน Dynamic Range เท่ากัน) ไม้บรรทัดอันที่ 1 มี 10 ช่วง แต่อันที่สองมีถึง 100 ช่วง


Separation

     Separation  เป็นความสามารถของเครื่องตนตรีที่แสดงออกมาเมื่อเล่นโน็ตพร้อมกัน โดยโน็ตทั้งหมดจะถูกรับรู้อย่างชัดเจนและเป็นเอกเทศมากกว่าการผสมกัน เช่น เมื่อเราตีคอร์ดถ้า separation ดี จะได้ยินเสียงแต่ละตัวโน้ตแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้เสียงกีตาร์มีมิติมากขึ้น หรือ ในบทเพลงแต่ละบทเพลงต้องมีลายประสาน ทำนองหลัก ลายเบส กรณีนี้บางครั้งมีการเล่นโน๊ตพร้อมๆ กัน กีตาร์มี separation ดีทำให้ผู้เล่นกีตาร์คุมเสียงได้ง่ายขึ้น และผู้ฟังสามารถฟังเสียงแต่ละลายประสานเสียงได้ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอรรถรสในการฟังบทเพลงนั้นๆ


Balance

    Balance แปลว่า "ความสุมดล ความคงที่" ในทางกีตาร์ balance เป็นความสัมพันธ์ระหว่างโน๊ตระดับเสียงต่ำและระดับเสียงสูง(Pitch)ในรูปแบบของ ระดับเสียง(Volume) และ ความสมบูรณ์ของตัวโน๊ต(Fullness) ที่มีความสม่ำเสมอกันตลอดช่วง  เช่น กรณีเสียงกีตาร์ไม่ balance ในช่วงโน๊ตเสียงต่ำอาจเรียกว่าเสียง boomy ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่มีย่านความถี่ต่ำดังเกินไป เมื่อเราเล่นตัวโน๊ตความถี่ต่ำจะมีความดังกว่าปกติเมื่อเทียบกับโน๊ตในย่านความถี่อื่นๆ
     เพื่อให้เห็นภาพชัดลองนึกถึง Equalizer(EQ) สำหรับการมิกซ์เสียงดนตรี  ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชนิด
ต้องการความเด่นของช่วงความถี่ต่างๆ กัน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกัน โดยทั่วไปกีตาร์ ตัวมันเองไม่สามารถปรับ balance แต่การติดภาคขยายเสียงที่มี EQ อาจช่วยในการปรับ balance ของเสียงกีตาร์ได้บ้าง และกีตาร์แต่ละตัวมีความ balance ในแต่ละย่านความถี่ต่างกันสาเหตุหนึ่งเนื่องจากปริมาตรของตัวกีตาร์(Sound box)ที่มีขนาดต่างกัน ถ้ามีปริมาตรใหญ่จะมีแนวโนัมย่านความถี่ต่ำ ถ้าปริมาตรเล็กจะมีแนวโน้มในย่านความถี่สูง ซึ่งมีประโยชน์ในการเล่นแบบ ensemble กีตาร์บางตัวเด่นในย่านความถี่ต่ำเหมาะสำหรับลายเบส ส่วนที่มีความเด่นในย่านความถี่สูงเหมาะสำหรับโซโล เป็นต้น


Ambience

     Ambience แปลว่า สภาพแวดล้อม คำนี้อธิบาย เสียงของกีตาร์ที่สภาพแวดล้อมต่างกันว่าออกมาต่างหรือเหมือนกันอย่างไร สำหรับกีตาร์ตัวเดียวกัน เช่น เมื่อเล่นกีตาร์ในห้องขนาดที่ไม่เท่ากัน หรือ ห้องที่มีวัสดุไม่เหมือนกัน ห้องที่มีสภาพความร้อนชื้นต่างๆ กัน ความแตกต่างเหล่านี้มีผลต่อเสียงกีตาร์ไม่มากก็น้อย เช่น บางครั้งอาจรู้สึกเสียงกีตาร์มีพลังน้อยลง การตอบสนองช้าลง เป็นต้น กีตาร์ทีดีควรมีความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน น้อย เพราะผู้เล่นจะควบคุมเสียงกีตาร์ได้ตามประสงค์

       ครั้งหนึ่งผมได้ถามนักเล่นกีตาร์ว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้กีตาร์ที่เขาเล่นอยู่ คำตอบของเขาคือ เพราะกีตาร์ตัวนี้ไม่ทำให้เขาผิดหวังในทุกสถานที่ที่เขาไปแสดง(เขาเดินทางแสดงทั่วโลก)และ กีตาร์สามารถให้เสียงที่เขาต้องการได้

      ที่เหลือ เรื่อง Sustain Present Wraparound&Projection ขอต่อเป็นตอนที่่ 3 ครับ เพราะยิ่งค้นยิ่งอ่านเนื้อหาเริ่มเยอะ


แหล่งความรู้เพิ่มเติม
-เรื่อง Equalizer https://www.youtube.com/watch?v=0d_1iGthE7c&list=PLDD3B01BC3DAEF5F5

Saturday, October 10, 2015

เรื่องของเสียงกีตาร์(ตอนที่ 1)

       บ่อยครั้งนักเล่นกีตาร์ลองกีตาร์แล้วมีความเห็นว่า เสียงดี หรือเสียงไม่ดี เคยสงสัยหรือไม่คำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" เป็นอย่างไร  บางครั้งบอกว่า ดี ด้วยความเกรงใจ บางครั่งบอกไม่ดีตรงๆ แต่พอถามไปว่า"อย่างไร" น้อยคนนักที่อธิบายได้ เหตุผลที่อาจอธิบายไม่ได้ เพราะภาษาพูดไม่สามารถอธิบายเสียงกีตาร์ได้ แต่เป็นความจริงเพียงด้านเดียว เพราะยังมีคนพยายามอธิบายเรื่องเสียงให้เข้าใจได้ตรงกัน โดยใช้แนวทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษา ในฐานะผู้สร้างและผู้ชำนาญในเรื่องกีตาร์  อย่างน้อยเราควรอธิบายผลงานของตัวเองได้
     คำอธิบายเสียงกีตาร์อาจแบ่งเป็นหมวดคำ พื้นฐานเรื่องอคูสติก ได้แก่ Timbre Pitch Volume และหมวดคำที่แสดงลักษณะเสียงกีตาร์ซึ่งนำความเข้าใจในหมวดแรกมาอธิบายเพิ่มเติมได้แก่ Presence, Dynamic Range, Separation, Balance, Sustain, Wraparound&Projection ดังนี้

Timbre
    Timbre อ่านว่า"TAM-brah" เป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศษ ตรงกับคำว่า Tone quality,Tone colour. หรือภาษาไทยเรียก "สีสันเสียง" มีความหมายว่า  เป็นสิ่งที่ช่วยแยกแยะคุณภาพของเสียงหรือแยกแยะเครื่อง ดนตรี เสียงร้องออกจากกันได้ Oxford Concise Dictionary of Music.(1995 : 738) (1) ไม่เพียงแยกแยะเครื่องดนตรีออกจากกันเท่านั้น ยังลงลึกถึงการให้เสียงที่แตกต่างกันในเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันด้วย เช่น กีตาร์คลาสสิก เมื่อดีดตำแหน่งต่างกันส่งผลให้เสียงต่างกันด้วย หรือแม้แต่ดีดตำแหน่งเดียวกันแต่ใช้มุมเล็บต่างกัน เสียงก็ต่างกัน  ผู้ประพันธ์เพลงและนักเล่นกีตาร์นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันในบทเพลง
   ตัวอย่างคำที่ใช้แสดงลักษณะของเสียงกีตาร์ได้แก่ dark(มีความมืดมน) bright(ความสว่างสดใส) opaque(ทึบ) transparent(ใสแบบแสงผ่าน) warm(ความสว่างอบอุ่น) dull(มัว)  sharp(เสียงที่ชัดเจน) mellow(อ่อนหวานจับใจ) harsh(แหบกระด้าง) clear(ความใสชัดเจน) rounded(ออกมากลม) flat(แบน) เป็นต้น
  ในประเทศแคนนาดามีการศึกษากันจริงจัง มีงานวิจัยของคุณ Caroline Traube ได้รวมรวมคำต่างๆที่ใช้อธิบายลักษณะของเสียงไว้เป็นร้อยคำ  จัดหมวดหมู่คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมีการอธิบายความหมายแต่ละคำ เปรียบเทียบกับต่ำแหน่งดีดบนสายกีตาร์และตำแหน่งการออกเสียง(Phonetic)ในช่องปาก สนใจลองอ่านดูในลิงค์นี้ An interdisciplinary study of the timbre of the classical guitar


ตัวอย่างรูปภาพ จากงานวิจัยเรื่อง An interdisciplinary study of the timbre of the classical guitar คำทางซ้ายมือล่างแสดงลักษณะของเสียงตำแหน่งดีดใกล้จุดกึ่งกลางสาย ส่วนในทางขวาบนแสดงลักษณะของเสียงตำแหน่งดีดใกล้ Bridge

Pitch
     Pitch ตรงกับภาษาไทยว่า "ระดับเสียง" เป็นคุณสมบัติ ความทุ้ม แหลม ของเสียง โดยเกิดจากความถี่ต่างกัน ความถี่สูงเสียงแหลม(เสียงสูง) ความถึ่ต่ำเสียงทุ้ม(เสียงต่ำ) เช่น เสียงมีความถึ่ 440 ครั้งต่อวินาที หรือ 440 Hertz(Hz) (เฮิร์ทซ์) เป็นเสียงตัวโน้ตลา(A4)   ระดับเสียงต่ำสุดของกีตาร์คือ เสียง E สาย 6 มีความถี่ 82.41 Hz เป็นต้น หูคนเราฟังย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 20 Hz- 20,000 Hz
     สำหรับกีตาร์การกำหนดระดับเสียงขั้นอยู่กับระยะ ความสั่น ยาว ของสายกีตาร์เป็นตัวกำหนด ถ้าสายมีความยาวจะให้ระดับเสียงต่ำ ถ้าสายมีขนาดสั้นเสียงจะให้ระดับเสียงสูง หรือการกดที่ตำแหน่ง Fret ที่ต่างกันนั่นเอง 

Volume
     Volume คือ ระดับความดัง เบา ของเสียง มีหน่วยเป็น เดซิเบล(dB) ระดับที่หูเรา เริ่มได้ยินคือ 0 dB ได้ยินดังสุดที่ไม่เจ็บหู 120 dB, การจราจรแออัดประมาณ 80 dB การพูดคุยประมาณ 60 dB ในห้องสมุดประมาณ 20 dB เสียงกรอบแกรบของใบไม้ประมาณ 20 dB เป็นต้น
     ระดับความดัง เบา เป็นคุณสัมบัติสำคัญของกีตาร์ขึ้นอยู่กับความอิสระในการสั่นของไม้หน้าซึ่งถูกขับ(Driven) ด้วยสาย มีหลายปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่  คุณภาพและความหนาของไม้หน้า รุปแบบBrace คุณภาพไม้หลังและไม้ข้างซึ่งเป็นตัวสะท้อนเสียง(Resonator) ชนิดสายกีตาร์ขนาดและความตึงของสาย ปริมาตรของตัวกีตาร์ เป็นต้น

ในครั้งหน้าเราจะมาต่อกันในหัวข้อที่เหลือครับ



แหล่งศึกษาเพิ่มเติม
-(1) สีสันเสียง(timbre/tone colr/tone quality)  โดย ผศ.ดร ศักดิ์ชัย  หิรัญรักษ์
-http://www.rmutphysics.com/physics/oldfront/95/sound1/sound_1.htm
-The Acoustic Guitar Guide โดย Larry Sandberg.


 

Saturday, October 3, 2015

ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง (ตอน 3)

   บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายในเรื่อง"ช่างทำกีตาร์ควรเรียนรู้อะไรบ้าง"อาจยาวกว่าตอนที่ผ่านมาเพราะหลายตอนไปเกรงว่า ผู้อ่านจะเบื่อ   2 ตอนแรกหวังว่าผู้อ่านจะได้ความรู้ความเข้าใจบางอย่างในอาชีพนี้มากขึ้น วันนี้ต่อกันอีก 3 เรื่องคือ
  
5 งานไม้( Woodwork)
    ย้อนไปเมื่อปี 2008 ผมมีโอกาสไปโตเกียวเพื่อเรียนรู้การทำกีตาร์จากคุณ Yuichi Imai ช่างทำกีตาร์ชาวญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 อาทิตย์ ความประทับใจที่สุดคือ ฝีมือการใช้เครื่องมืองานไม้ โดยเฉพาะพวกของมีคม กบ สิ่ว มีดญี่ปุ่น  มันคมจริงๆ ความคมนี้ได้จากการลับด้วยมือทั้งหมด รอยต่อไม้เกือบทั้งหมดเป็นรอยต่อของผิวที่จบด้วยคมมีด เช่น การปิดไม้หลัง ก่อนติดกาวเพื่อปิดไม้หลังปกติช่างทำกีตาร์ทั่วไปใช้จานโค้งกระดาษทรายปรับผิวเพื่อให้ผิวสัมผัสระหว่างไม้ข้างและไม้หลังเรียบพอดีกัน แต่คุณ Imai ใช้กบท้องโค้งปรับผิว หลังจากนั้นจึงติดกาวโดยไม่ต้องใช้กระดาษทราย หรือแม้แต่โคังใต้ Bridge ก่อนติดกาวกับไม้หน้าได้รับการปรับโค้งโดยคมของใบกบเช่นกัน คุณ Imai มีกบประมาณ 10 ตัวใช้งานต่างๆกัน ในขั้นตอนการทำกีตาร์ทั้งหมด มีเพืยง 2 จุดในการติดกาวที่ใช้กระดาษทรายขัดก่อนติดกาวคือ Brace กับไม้หน้า และ  Back bar กับไม้หลัง แต่เป็นการขัดเพียงด้านเดียวคือ ขัดที่ไม้หน้า และ ไม้หลัง  หลังจากเห็นฝีมืองานไม้คุณ Imai ผมเห็นปัญหาในการทำกีตาร์ของตัวเอง ผมจึงเริ่มฝึกการใช้เครื่องมืองานไม้เพิ่ม ซื้อหนังสือเฉพาะทางมาอ่าน เช่น เกี่ยวกับกบ 1 เล่ม เกี่ยวกับการลับคม 1 เล่ม เป็นต้น
    มีข้อสังเกตจุดหนึ่งสำหรับกีตาร์ดีๆ ส่วนใหญ่มีความปราณีต และสวยงาม สิ่งที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าช่างทำกีตาร์ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับงานไม้ บางครั้งมีคนถามว่า อยากทำกีตาร์จำเป็นไหมที่ต้องเป็นงานไม้มาก่อน คำตอบคือไม่จำเป็นแต่ต้องมาฝึกเพิ่มเติมให้ถึงขั้นที่เรียกว่า ชำนาญ 
   เรื่องงานไม้มีรายละเอียดดังนี้
    การใช้เครื่องมือ พวกอุปกรณ์(Hand tool)ได้แก่ กบ สิ่ว ฆ้อน เลื่อย เครื่องมือวัด เป็นต้น เครื่องมือไฟฟ้า(Power tool)ได้แก่ เครื่องเลื่อยสายพาน เครื่องขัดกระดาษทรายตั้งโต๊ะ แท่นสว่าน เป็นต้น รวมถึงการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง การลับคม ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ
   ทักษะงานไม้ ในเรื่อง การวัดและการกำหนดเส้น การเข้าไม้รูปแบบต่างๆ(Jointing)  เทคนิคงานไม้ศึกษาวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานไม้ได้แก่ กาว พุก เดือย ตะปูแบบต่างๆ  เป็นต้น
  งานเคลือบรักษาผิวไม้   การบวนการการเคลือบรักษาผิวได้แก่ การเตรียมผิว(Sanding) การเปิดรูเสี้ยน(Open porous) การอุดรูเสี้ยน(Fill porous) การรองพื่น(Sealing) การสร้างเนื้อ(Build layer) การขัดผิว(Rubbing)  สำหรับการทำกีตาร์วัสดุการเคลือบรักษาผิวไม้ที่นิยมได้แก่ ยูรีเทน(Urethane)  แล็คเกอร์(Lacquer) และ เชลแล็ก(Shellac)
    แหล่งเรียนรู้
หนังสือ ช่างไม้ในบ้าน โดย ศิระ จันทร์สวาสดิ์,ศานิต ปันเขื่อนขันติย์,สุพัตร์ ศรีพงษ์สุทธิ์
หนังสือ Making & Mastering Wood Planes โดย David Finck
หนังสือ Complete Guide to Sharpening โดย Leonard Lee
หนังสือ Essential Guide to Woodwork โดย Chris Simpson
   
6ประวัติศาสตร์กีตาร์(Guitar history)
     การศึกษาประวัติศาสตร์กีตาร์ไม่เพียง เกี่ยวกับตัวกีตาร์อย่างเดียว รวมถึงประวัติช่างทำกีตาร์ ประวัตินักเล่น ด้วย เพราะทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน ถ้ากีตาร์สายเหล็กควรอ่านประวัติการทำกีตาร์ของกีตาร์ Matin หรือถ้ากีตาร์คลาสสิกควรอ่านประวัติ Antonio de Torres   ประโยชน์จากประวัติกีตาร์ทำให้รู้พัฒนาการของกีตาร์ในแต่ละยุคสมัย เข้าใจในเรื่องแบบกีตาร์มากขึ่น ซึ่งหมายถึง ในการทำกีตาร์ปัจจุบันเริ่มทำกีตาร์ 1ตัว ต้องมีแบบโครงสร้าง(Guitar plan) เราสามารถทำให้เหมือนตามแบบได้แต่เสียงอาจไม่ใช่ ถ้าเรารู้ถึงที่มาที่ไปของโครงไม้แต่ละตัวว่าพัฒนาการมาอย่างไรจุดไหนสำคัญ อาจถึงขั้นรู้ที่มาแนวความคิดและออกแบบของช่างทำกีตาร์ในอดีต ซึ่งในภายหน้าเราสามารถทดลอง ออกแบบตามกรอบความเข้าใจและค่านิยมตามแต่ละยุคสมัยได้  
     แหล่งเรียนรู้
หนังสือ Antonio de Torres Guitar Maker-His life&Work โดย  Jose L. Romanillos
หนังสือ Inventing The American Guitar โดย  Robert Shaw & Peter Szego
หนังสือ The Granada School of Guitar-Makers โดย  Alberto Cuellar,David Gansz,Aaron Garcia,Angelo Gilardino,Javier Molina
หนังสือ Guitar Music,History,Construction and Players From the Renaissance to Rock โดย  Tom and Mary Anne Evans
เป็นต้น

7ภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน(Language) 
     ในปัจจุบันภาษาที่ 2 หรือ 3 เป็นเรื่องสำคัญแทบทุกสาขาอาชีพ ช่างทำกีตาร์เช่นเดียวกัน เพราะการทำกีตาร์ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเป็นที่แรก ต้นกำเนิดการทำกีตาร์อยู่ทางตะวันตก สเปนและอเมริกา ความรู้ต่างๆ มาจากหนังสือ วีดีโอ หรือแม้แต่การไปเรียนในต่างประเทศต้องใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน 
  ภาษาอังกฤษ มิใช่เป็นเพียงสื่อในการเรียนรู้อย่างเดียว เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปร่วมงานกีตาร์ในต่างประเทศเพื่อขายงาน ต้องใช้ภาษาอังกฤษเช่นกัน

    สรุปทััง 7 เรื่องที่กล่าวมานั้น สำคัญมากน้อยต่างกันไป แต่นี้แค่สำหรับผู้เริ่มต้นที่ดีเท่านั้น รายละเอียดในอาชีพนี้ยังมีอีกมาก ที่สำคัญเราควรเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดช่วงชีวิต