Friday, April 26, 2019

Antonio de Torres Jurado ผู้ให้กำเนิดกีตาร์คลาสสิกยุคใหม่ ตอน 2

     สวัสดีครับห่างหายจากไป 1 ปีกับบทความที่ยังไม่จบ ช่วงนี้มีวันหยุดยาวสงกรานต์พอมีเวลาว่างจะพยายามเขียนให้จบครับ ในตอนที่แล้วเราได้รู้ประว้ติของคุณ Antonio Torres และสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับคุณ Antonio Torres  ครั้งนี้ผมขอนำแนวความคิด รูปแบบการทำกีตาร์ของเขามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเราจะได้เข้าใจว่าทำไมผู้คนจึงยกย่องให้กีตาร์ของเขาเป็นต้นแบบกีตาร์คลาสสิกในยุคปัจจุบัน
   จากหนังสือ Antonio de Torres GuitarMaker-His Life & Work เขียนโดย JOSÉ LUISE ROMANILLOS ผลงานของ Antonio Torres ที่หลงเหลือและถูกค้นพบจนถึงปี คศ.1995 รวมทั้งหมด 88 ตัว เป็นหนึ่งในห้าของผลงานทั้งหมดของ Antonio Torres  ได้ถูกแยกเป็น 2 ช่วงคือ First Epoch(FE)เป็นกีตาร์ที่ทำขึ้นระหว่างปี 1852-1869 ซึ่งเขาอาศัยอยู่ที่เมือง Seville มีจำนวน 39 ตัว และ Second Epoch(SE) เป็นกีตาร์ที่ทำขึ้นนะหว่างปี 1875-1892 ช่วงที่เขากลับมาอยู่ที่เมือง Almería  มีจำนวน 49 ตัว
    ในบรรดากีตาร์ทั้งหมด ไม้หลังข้างส่วนใหญ่ Antonio Torres  ใช้ไม้ Cypress, Rosewood และ Maple ไม้ที่เป็นตัวเลือกแรกสำหรับเขาคือ Rosewood ชนิด Dalbergia nigra หรือ Brazilian Rosewood พบในกีตาร์ 17 ตัวจาก 39 ใน First Epoch  ไม้ที่ตัวเลือกถัดไปคือ ไม้ Maple อาจเพราะว่า Maple เป็นไม้ที่ได้ผ่านการพิสูนจ์ในเรื่องคุณสมบัติทางด้านอคูสติกจากการทำเครื่องดนตรีตระกูลไวโอลิน และความสวยของลายเช่น Flame maple และ  Bird-eye Maple พร้อมกับความขาวซึ่งทำให้การลงลายตกแต่งบนตัวกีตาร์เห็นเด่นชัดขึ้น ได้แก่ กีตาร์ FE08 ดังรูปที่ 1

รูปที่1 FE 08 รูปจากนิตยสาร Orfeo Magazine #9
  ถัดมาเป็นไม้ Cypress เป็นไม้ท้องถินของสเปน ถูกใช้มากในตอนที่เขากลับมาอยู่ที่ Almería มีกีตาร์จำนวน 25 จาก 49 ใน Second Epoch สาเหตุที่ใช้ไม้ Cypress มาก เป็นไปได้ว่าที่ Almería เป็นเมืองเล็กๆ หาไม้ Rosewood ซึ่งเป็นไม้นำเข้าได้ยากกว่าตอนอยู่ที่ Seville เป็นเมืองมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากว่าและมีร้านขายไม้มากมาย และกีตาร์ที่ทำจากไม้ Cypress ส่วนใหญ่  เป็นกีตาร์ราคาไม่สูง แต่เรื่องเสียงช่างและนักเล่นกีตาร์หลายคนชอบเสียงจากไม้ Cypress มากและรวมถึงกลิ่นหอมของมัน  นอกจากไม้ 3 ชนิด ข้างต้นแล้ว ยังมีไม้อื่นๆ ได้แก่ Mahogany  Walnut Locust Cherry รวมถึงกระดาษ Papier-mâché  ด้วย แต่ทำจำนวนน้อยมาก
    ไม้หน้าส่วนใหญ่ Torres ใช้ไม้ Spruce (Picea,ตระกูลไม้สน) ซึ่งนำเข้ามาจากนอกประเทศ และมีบางตัวใช้ไม้ Pine ท้องถิน (Abies pinsapo)  เช่น FE 03 และไม้ Fir ใข้กับ Traverse bar ในกีต้าร์รุ่นที่ถูก ในด้านคุณสมบัติของไม้หน้า ความถี่ของเกรนไม้ที่พบ มีตั้งแต่ 9-46 วงปีต่อระยะ 1 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตาม Torres จะใช้บริเวณที่มีความถี่ของวงปีมากอยู่ที่ตรงกลางไม้หน้า นอกจากนี้ลักษณะที่สำคัญสำหรับไม้หน้าที่ Torres เลือกคือ เนื้อเยื่อไม้ขนานกับระนาบของไม้หน้าหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า no run out grain   และการตัดต้องได้ Quartersawn เป็นการตัดให้วงปีตั้งฉากกับระนาบไม้หน้า ดูในรูปที่ 2
   กีตาร์หลายตัวไม้หน้าประกอบจากไม้มากกว่า 2 ชิ้น บางครั้ง 3 ชิ้น 4 ชิ้น บางครั้ง 2 ชิ้นจริงเหมือนมาตรฐานการทำไม้หน้าในยุคปัจจุบัน แต่ก็ไม่ Book-match กัน( ไม้หน้า 2 ชิ้นมาจากไม้คนละท่อนกัน) เป็นไปได้ว่าสมัยก่อนไม้ที่นำมาทำกีตาร์ซื้อมาจากร้านขายไม้สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ ไม้หน้ากว้างๆ ที่สมบูรณ์นั้นหายาก

รูปที่ 2  แผ่นไม้ด้านบนทิศทางเนื่อไม้ไม่ขนานกับระนาบ แผ่นล่างเป็นลักษณะไม้ที่
Torres เลือกใช้  ภาพจาก  Australian/New Zealand Luthiers Forum
    ส่วนไม้ที่ทำคอ Torres เลือกใช้ไม้ Cedar หรือชื่อทางการค้าว่า Spanish Cedar หรือ Cuban Cedar เป็นไม้จากอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาในสเปนมากช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19  เป็นไม้ที่มีความสเถียรสูงไม่เปลี่ยนหรือบิดมากตามความชื้น  เบา เนื้อไม่แข็งมากทำงานง่าย  ทนปลวกมีความหอม นอกจากใช้ทำคอกีตาร์แล้ว ยังใช้ในส่วน lining  และ Back bar
     ครั้งนี้เราได้รู้จักไม้และการเลือกใช้ไม้ของ Torres แล้วใน ครั้งหน้าจะพูดถึงรูปแบบ Brace (ไม้โครงสำหรับไม้หน้า) และอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบกีตาร์ของ Torres พบกันใหม่ครับ
 

Sunday, February 11, 2018

Antonio de Torres Jurado ผู้ให้กำเนิดกีตาร์คลาสสิกยุคใหม่ ตอน 1

    เนื่องจาก ปี 2017 ที่ผ่านมาเป็นปี ครบรอบ 200 ปี ของคุณ Antonio de Torres Jurado  ผมจึงอยากเสนอเรื่องของเขา เพื่อเป็นการยกย่อง สรรเสริญ ให้คนรู้เรื่องราวของเขามากขึ้น ถ้าไม่มีคนคนนี้ อาจจะไม่มีกีตาร์คลาสสิกในรูปแบบที่เล่นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผมทำเป็นอาชีพอยู่ นอกจากนี้การศึกษาประวัติ ผลงาน เป็นรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ผู้ปฏิบัติมาก่อน ผู้อ่านไม่ต้องไปลองผิดลองถูก ลดเวลาการพัฒนาการทำกีตาร์ เป็นประโยชน์ต่ออาชีพช่างทำกีตาร์ไม่มากก็น้อย

   


รูป Antonio Torres ช่วงอายุ 60 ปลายๆ
ถ่ายโดยช่างถ่ายภาพชื่อ Soler 
ณ.ร้านถ่ายรูปในเมือง Barcelona
(รูปจาก Wikipedia)






Antonio Torres คือใคร ?
      Antonio Torres เป็นลูกของนาย Juan Torres และ นาง Maria Jurado เกิดวันที่ 13 มิถุนายน คศ.1817 ที่หมู่บ้าน  La Cañada de San Ubanto  ใกล้กับ Almeria ทางตอนใต้ของประเทศ Spain  เริ่มฝึกเป็นผู้ช่วยช่างไม้ตั้งแต่อายุ 12 ปี เป็นเวลา 5-6 ปี ชื่อเขาได้รับการบันทึกในเอกสารของเมือง Vera ในปี 1835 ในฐานะช่างไม้  ไม่มีใครทราบแน่นอนว่าเขาเริ่มทำกีตาร์เมื่อไร และเริ่มเรียนกับใคร จากการแปลความจดหมายของ Martinez Sirvent โดย Jose L. Romanillos  เขาน่าจะเริ่มทำกีตาร์ตัวแรกในช่วงปี 1836-1845 ที่เมือง Granada  และในปี 1845 ภรรยาคนแรกได้เสียชีวิตเหตุการณ์นี้เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมือง Sevilla ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงทางตอนใต้ของสเปน เป็นแหล่งรวม ศิลปิน ช่างไม้ งานฝีมือ และความหลากหลายของผู้คน
     ที่ Sevilla ในปีช่วง1850 ขณะที่ยังไม่ประกอบอาชีพช่างทำกีตาร์เต็มตัว เขาได้พบกับ ศิลปินนักเล่นกีตาร์ นักแต่งเพลง ชื่อ Julian Arcas  เขานำกีตาร์ไปขอคำแนะนำจาก Julian Arcas และได้พัฒนาการทำกีตาร์ จนกระทั่งปี 1856 เขาทำกีตาร์ชื่อ La Leona ให้แก่ Julian Arcas  ซึ่งเป็นกีตาร์ตัวแรกๆ ที่มีการติด Tornavoz สำหรับช่วยเพิ่ิมการตอบสนองของเสียงเบส
     ในปี 1858 เขาได้เหรียญ Bronz จากงานแสดงกีตาร์ที่ Sevilla  จากกีตาร์เบอร์ FE08 เมื่อตอนอายุ 42 ปี หลังจากนั้น 1 ปี เขาทำกีตาร์ซึ่ง Miguiel Llobet ศิลปินนักเล่นกีตาร์ ใช้กีตาร์ตัวนี้ตลอดอาชีพการเล่นกีตาร์ และปี 1864 เขาทำกีตาร์เบอร์ FE17 ขึ้นมา จากนั้นปี 1869 Francisco Tarrega ได้ซื้อกีตาร์ตัวนี้ไป
     ในช่วงปี 1858-1869 นับเป็นช่วงที่งานของเขาขึ้นไปถึงจุดสูงสุดทั้งด้าน ฝีมือความละเอียดของงาน เสียง ความสวยงาม และความยอมรับของศิลปินนักเล่นกีตาร์ในระดับโลก แต่ในทางตรงกันข้ามหลังจากช่วงปี 1869 -1870 เขาคิดว่าอาชีพการทำกีตาร์ไม่เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์อีกต่อไป ส่งผลให้เขาหยุดทำกีตาร์ กลับไปที่ Almeria เปิดรายขายของชำ(China shop)  ต่อมาในปี 1873 เขาสอนลูกศิษย์คนหนึ่งคือ Joaquin Alonso ในที่สุดเขาได้กลับมาทำกีตาร์อีกครั้งในปี 1875 ทำแบบยังไม่ทำเต็มเวลา กระทั้ง 6 ปีต่อมา(1881)เขาซื้อบ้านเพื่อทำ Guitar workshop อีกครั้งที่ 80 Calle Real,La Cañada de San Ubanto  หลังจากภรรยาคนที่สองเขาเสียชีวิตในปี 1883 เขาทำกีตาร์จริงจังขึ้นจากแต่ก่อน โดยแต่ก่อนทำเฉลี่ยปีละ 6 ตัว หลังจากปี 1883 ทำเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12 ตัวต่อปี ซึ่งรวมได้กีตาร์ทั้งหมด 155 ตัวตั้งแต่เริ่มทำกีตาร์ที่ Almeria ถึงวันที่เขาเสียชีวิตในเดือน 19 พฤศจิกายน คศ, 1892 ด้วยอายุ 75 ปี
   

สถานที่สำคัญที่ระลึกถึง Antonio Torres ในปัจจุบัน ได้แก่
   

รูปทางซ้ายคือ อนุเสาวรีย์ของ Antonio Torres ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเมื่อปี 2015 ขณะไปเรียนทำกีตาร์ที่ Granada
        อนุเสาวรีย์สร้างเมื่อปี 1992 100 ปีหลังจากปีที่ Antonio Torresเสียชีวิต ออกแบบโดย Luis Ramos  ที่ตัวอนุเสาวรีย์มีรูปปั้น Antonio Torres ทำจาก Bronze ตั้งอยู่แบบฐานซึ่งเป็นก้อนหินย้อย(Stalagmite block) ข้างบนเป็นกีตาร์ La Leona ทำด้วยหินอ่อนจากเมือง Macael มีรูปหัวสิงโตที่คอด้านบนซึ่งสื่อความหมาย ของคำว่า La Leona ในภาษาสเปนแปลว่าสิงโต
       ตั้งอยู่ที่ La Cañada de San Ubanto squre และได้ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า Plaza De Don Antonio De Torres เพื่อเป็นเกียรติแกเขา ในปี 1977 หลังจาก Antonio Torres เกิด 100ปี 


        รูปด้านขวามือ คือ 80 Calle Real,La Cañada de San Ubanto สถานที่ทำกีตาร์แห่งสุดท้ายของAntonio Torres ใน Almeria  มีลักษณะเป็นตึกเหมือนห้องแถวหน้าแคบ ลึก หลังคาแบน มีพื่นที่ 73 ตารางเมตร ได้รับการตกแต่งใหม่ในช่วงต้นปี 1900 โดย Francisco Salvador นักตกแต่งภายใน
   Jose L. Romanillos ได้อธิบายสถานที่ทำกีตาร์ไว้ในหนังสือ Antonio Torres : Guiter maker his life & work  ดังนี้
  "จากห้องทำงานของเขา หน้าต่างบานใหญ่มองออกไปทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะทำกีตาร์ Torres ต้องได้ยินเสียงจาง ๆ ของทะเล ที่ทำให้เขาเห็นอย่างชัดเจนระหว่างแถวเรียวยาวของต้น Cypress ยืนยามผ่านหุบเขาของ La Cañada ซึ่งบางส่วนจะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกีต้าร์ของเขา Torresต้องได้ยินเสียงของคนงานรับจ้างทำงานในไร่นาและคนงานประจำวันที่กำลังทำงานอยู่ในทุ่งใกล้เคียง ชาวบ้านกลุ่มเดียวกันนี้ก็มารวมตัวกันเพื่อฟัง Torres ลองกีตาร์ของเขา"



   รูปทางซ้ายคือ Almeria guitar museum
เปิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 มีทั้งหมด 3 ชั้น ได้แก่
-ชั้น Groundแสดงประวัติความเป็นมาของกีตาร์ workshopสำหรับทำกีตาร์ กีตาร์และ ประวัติของ Antonio Torres
-ชั้น 1  แสดงกีตาร์ในปัจจุบัน เรื่องของนักเล่นกีตาร์ตั้งแต่อดีต โซนการเรียนรู้กิจกรรม
-ชั้น Basement เป็นห้องแสดงชั่วคราว
   https://www.youtube.com/watch?v=WJIiI_szLgQ

   ในคราวหน้าเรามาดูงานและวีธีการทำกีตาร์ของ Antonio Torres กันครับ พบกันคราวหน้า

แหล่งเรียนรู้เพิีมเติม
Orfeo Magazine เล่ม 9
- หนังสือ Antonio Torres : Guiter maker his life & work โดย Jose L. Romanillos
- Wikipedia Antonio Torres
-Remembering Antonio de Torres, 1817 - 1892
  https://www.youtube.com/watch?v=I6Mlgs6kTz8

Friday, November 24, 2017

การดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิก ตอนที่ 4 (จบ)

              กลับมาพบกันอีกครั้งครับ ครั้งที่แล้วการดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิก คุยเรื่องการทำความสะอาด Fret และ Fingerboard วันนี้มาดูในหัวข้อการบำรุงรักษา
   
3.การบำรุงรักษาทั่วไป

     3.1 การดูแล Tuning Machine  หรือที่เราเรืยกภาษาไทยว่า"ลูกบิด"
Tuning Machine ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโลหะ อาจมีส่วนใบบิดเป็นพลาสติก ไม้ หรือมุก ส่วนสำคัญสุดคือ เฟือง กรณีเป็นระบบเฟืองปิดที่ใช้กับกีตาร์สายเหล็กส่วนใหญ่อาจไม่ต้องดูแลมาก แต่แบบระบบเฟืองเปิดที่ใชักับกีตาร์คลาสสิก และ สายเหล็กบางรุ่น ใช้ไปนานๆ จะมีพวกขึ้ฝุ่นหรือพวกสนิมอ๊อกไซด์ขึ้นทำให้เกิดการติดหรือการฝืดขึ้น วิธีแก้ไขในจุดนี้สามารถใช้พวกจารบีขาวทาหล่อลืื่นในฟันเฟืองและเกลียวขับเฟือง จากนั้นหมุนเฟืองหลายรอบเพื่อให้จารบีเข้าไปทั่วทุกจุดของระบบเฟือง เสร็จแล้วควรเช็ดจารบีที่เกินออกเพราะถ้าทิ้งไว้พวกฝุ่นเข้าไปติดง่าย ในกรณีกีตาร์คลาสสิกให้ใส่จารบีในช่องหัวสำหรับใส่แกนตัวผูกสายด้วย เพื่อลดแรงเสียดทานส่งผลให้ลดแรงกดบนตัวเฟือง ยืดอายุเฟืองและผู้เล่นไม่ต้องออกแรงมาก  ในคู่มือการบำรุงรักษาของ Martin แนะนำให้ใช้  petroleum jelly สำหรับการหล่อลื่น ผมมาลองหาดูพบว่าในบ้านเราเป็นวาสลีน ตามรูปครับ
    ควรตรวจสอบ น็อต สกรู ถ้าหลวมอาจเกิดเสียงที่ไม่ต้องการ และ ส่งผลให้อายุการทำงานของเฟืองสั้นลงด้วย ควรขันกวดด้วยแรงพอดี อย่าให้แน่นไป เพราะถ้าแน่นไปจะทำให้เฟืองฝืดมากต้องใช้แรงบิดเยอะ
    ส่วนที่เป็นโลหะที่เกิดสนิมอ๊อกไซด์ใช้ครีมขัดโลหะได้ แต่ไม่ควรขัดมากกรณีโลหะที่เคลือบสีทอง เพราะทำให้สีจางลงได้แลดูไม่สวย ต้องเข้าใจด้วยว่าการขัดนั้นเป็นการขัดตัวเคลือบผิวด้านนอกสุดออก ขัดมากเนื้อเคลือบก็ออกมาก ไม่ใช่การเคลือบที่เป็นการเสริมเนื้อตัวเคลือบเพิ่ม

      3.2 การเดินทาง
   การเดินทางทั่วไประยะเวลาสั้นๆ
ควรใช้กล่อง Hard-case ใส่เพื่อลดโอกาสสิ่งภายนอกจะทำอันตรายกับกีตาร์  ไม่ว่า น้ำ ความชื้น ความแห้ง การกระแทกต่างๆ จากประสบการณ์ที่มีเจ้าของกีตาร์นำมาซ่อมเนื่องจากการเดินทาง เช่น
     -เอากีตาร์ไว้กระโปงหลังรีบปิดฝากระเโปงกระแทกกีตาร์แตก
     -ทิ้งไว้หลังกระโปงหลังเป็นอาทิตย์ เป็นเดืิอน ชิ้นส่วนหลุด เพราะความร้อนทำให้กาวเสื่อม
     - ถือกีตาร์ซ้อนมอเตอร์ไซด์ล้ม
     - ปิดฝากล่องไม่เรียบร้อย รีบยกทำให้กีตาร์หล่นจากกล่อง
   เป็นต้น ควรหลีกเลื่ยงกรณีตัวอย่างข้างบนครับ อีกตัวอย่างที่ชอบละเลยกัน  ทิ้งกีตาร์ไว้ในรถซึ่งจอดไว้ในที่ร้อน เช่น ทิ้งกีตาร์ไว้ในรถขณะลงไปทานข้าว หรือไปทำธุระอย่างอื่น  กรณีแบบนี้ทำครั้งเดียวอาจไม่มีผลต่อกีตาร์ แต่ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้งกีตาร์จะพังได้ในที่สุดครับ

   สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน
บ่อยครั้งผมจะเช็ดเที่ยวบินว่าใช้เครื่องบินรุ่นไหนและเช็คว่าที่เก็บกระเป๋าเหนือหัวมีขนาดใหญ่พอสำหรับใส่กีตาร์ได้หรือไม่ เช่น สายการบินแอร์เอเชียใช้เครื่องบิน Airbus 320 ทั้งหมดในการบินระยะสั้น รุ่นนี้ใส่กีตาร์ได้ ส่วนบินระยะยาว Boing 737-300 ก็ใส่ได้   และสำหรับการเดินทางจะพยายามให้ได้บินเที่ยวเดียวถึงไม่ต่อเครื่องที่ไหน เพื่อลดโอกาสอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับกีตาร์เนื่องจากการเคลื่อนย้ายกีตาร์หลายครั้ง
    สิ่งที่เราควรทำกับกีตาร์เมื่ิอเดินทางโดยเครื่องบิน คือ ควรหย่อนสายกีตาร์เพื่อขจัดความเครียดที่ไม้คอกีตาร์  กรณีสายเหล็กควรคลาย Truss rod ด้วย และใส่กล่อง Hard case และเป็น Hard case แบบ Flight case ยิ่งดีที่สุด ในบ้านเรามีผู้ผลิต Flight case อย่างดี คือ Visesnut case 
     ถ้าเป็นไปได้ขอทางสายการบินให้ถือกีตาร์ขึ้นเครืองด้วย  แต่ถ้าไม่ได้ ควรห่อเพิ่มเติมและใช้บริการ Oversize ช่องทางนี้พนักงานเคลื่อนย้ายกีตาร์โดยการยก ไม่ผ่านสายพาน  กรณีส่งโดยบริษัทข่นส่ง ควรเพ่ิ่มกันกระแทกและใส่กล่องกระดาษอีกชั้นหนึ่ง

สำหรับการดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิกขอจบเพียงเท่านี้ พบกันใหม่ครับ
good luck.


Wednesday, November 15, 2017

Action กีตาร์ Finger style สูงแค่ไหน ตอนที่ 2 (จบ)

    สวัสดีครับ ตอนนี้เรามาต่อกันเรื่อง Action ของคุณ Tommy Emmanuel ผมใช้ Google ช่วยหา และเข้าไปอ่านใน www.thegearpage.net ได้ความว่าคุณ Adam Rafferty ,นักเล่นกีตาร์แนว Funky fingerstyle,มีโอกาสเล่นกีตาร์ Mathon ของ คุณ Tommy  คุณ Adam ว่ามันต่ำมาก ระยะที่ Fret 12 สาย1 คือ 3/64 นิ้ว(0.05) หรือ 1.19 มิลลิเมตร และ ระยะที่ Fret 12 สาย 6 คือ 4/64 นิ้ว(0.06) หรือ 1.59 มิลลิเมตร คุณ Adam จึงถามคุณทอมมี่ทำได้อย่างไร คุณ Tommy แนะนำให้ไปหาคุณ Joe Glaser (เป็นช่างอยู่ที่ Glaser Instruments, 434 East Iris, 37204 Nashville) คุณ Joe Glaser อธิบายว่าแกใช้ระบบ Plek
     Plek คืออะไร
   Plek ถูกคิดค้นโดยคุณ Gerd Anke นักประดิษฐ์ นักคิดและผู้เชี่ยวชาญ ชาวเยอร์มัน เริิ่มคิดค้นการ Set up กีตาร์โดยใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติตัั่งแต่ปี 1988 และปรับปรุงพัฒนาสมบูรณ์และจดสิธิบัตรในปี 1997 เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Frankfurt Music Fair ในปี 2000   ในปี 2001 ร้านของคุณ Glaser นำเข้ามาใช้ครั้งแรกในอเมริกา จากนั้นใช้กันแพร่หลายในระบบลายผลิตของโรงงานกีตาร์ได้แก่ Gibson(USA),Takamine(Japan),Martin(USA) เป็นต้น ดูประวัิติได้ที่ http://www.plek.com
    Gerd Anke ศึกษาการสั่นของสายกีตาร์โดย stroboscope และเขียน Software ออกมาควบคุมเครื่อง Plex อีกที เครื่องจะหาว่าปรับระดับ Fret และ ตั้งระยะ Relief  เท่าใดเพื่อตั้งสายกีตาร์ได้ต่ำสุดโดยไม่มีการ Buzz ตามวีดีโอข้างล่างนี้


    ลองดูวีดีโอนี้ครับอธิบายการใช้ Plek

     Plek ทำอะไรได้บ้าง
    สิ่งที่ Plek ทำได้คือ ปรับ Radius ของ Fingerboard, ปรับระดับ Fret ,ทำร่อง และ ปรับความสูง Nut ปรับความสูง Saddle คือตั้งแต่งาน ทำ Fret ถึงงาน Set up ส่วนเรื่องความละเอียดสำหรับการแสกน มีความละเอียดถึง +-0.005 มิลลิเมตร  การปรับเฟร็ต ละเอียดถึง +-0.01 มิลลิเมตร การปรับ Nut saddle ละเอียดถึง +-0.05 มิลลิเมตร ความละเอียดระดับนี้เกินกว่าการตรวจสอบโดยคนปกติ

   ดูความเร็วกระบวนการปรับเฟร็ตใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อเทียบกับผมทำประมาณ 2 ชั่วโมง
   ข้อดีอีกอย่างมันจะเก็บค่า Action ของแต่ละคนไว้ในหน่วยความจำ สมมติว่าผมอยากได้ Action แบบ Tommy มันทำให้ได้เลยเพราะมีค่า Action อยู่แล้ว
    ส่วนข้อเสียเท่าที่ผมอ่านเจอคือ Plek ไม่แต่งขอบ Fretให้ ช่างหลายคนจะคิดค่าแรงเพิ่มในจุดนี้ และกรณีกีตาร์คลาสสิก ส่วนใหญ่ Fret สุดท้ายจะไม่ต่อเนื่อง Plek จะไม่ปรับระดับให้ ช่างต้องมาปรับระดับเอง  แต่ทั้ง 2 ข้อส่วนตัวผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของชางมืออาชีพครับ

   เรื่องราคาตกเครื่องละ 100,000  US$ ผมดูจากการChatในบอร์ด
  http://www.harmonycentral.com
 สนนราคา level Fret ประมาณ 265 US$  ไม่รวมค่าอุปกณ์ ถ้า ทำทั้งหมดคือ ตั้งแต่ปรับ Fingerboard จนถึง level fret ค่าใช้จ่ายประมาณ 455 US$ ไม่รวมค่าอุปกณ์  ราคาจาก http://sfguitarworks.com/the-plek/  เมื่อปี 2015 ครับ (ราคาขนาดนี้ทำประมาณ 200 ตัวน่าจะคืนทุน :))
เหมาะมากับร้านซ่อมกีตาร์และ โรงงานกีตาร์  แต่มีข้อคิดของคุณ Glaser ว่าเครื่องนี้ดีมากแต่ที่สำคัญคือช่างผู้คุมเครื่องครับ ถ้ามีึความรู้ความเข้าใจในการ Set up ถึงจะได้งานออกมาดีครับ
   
   สุดท้ายนี้ผมอยากจะเห็นเจ้าเครื่องนี้ในไทยครับ ไม่ใช้อะไรหรอกครับ อยากเห็นตัวจริงอยากศึกษาว่ามันทำได้อย่างที่เขาบอกหรือป่าว :) ส่วนลิงค์ข้างล่างนี้อธิบายการใช้ Software ของ Plek อย่างละเอียดมี 4 ตอน โดยคุณ Joe Glaser  ครับสนใจลองเข้าไปดูครับ

https://www.youtube.com/watch?v=X0pKC9GHyWA
https://www.youtube.com/watch?v=W1P8rM60djk
https://www.youtube.com/watch?v=Kn4EhmM14w8
https://www.youtube.com/watch?v=8cZJCgtC5dc

Good day !




Friday, November 10, 2017

Action กีตาร์ Finger style สูงแค่ไหน ตอนที่ 1

     สวัสดีครับ ช่วงนี้มีนักกีตาร์แนว Finger style มาให้ตั้งความสูงของสายหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "Action" บ่อยๆ ผมจึงหาข้อมูลในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือคอมพิวเตอร์โน้ตบุคของผมเอง ดูว่าพวกแนว Finger style  เขาตั้ง Action แค่ไหนกัน  เท่าที่รู้โดยปกติแนว  Finger style ตั้งต่ำกว่าการตั้งสายปกติเพราะมือซ้ายต้องเล่นมาก เล่นทั่วคอ Action ต่ำๆ ช่วยให้ผู้เล่น เล่นเทคนิดต่างๆได้ดี เช่น การ Tapping  Pull off เป็นต้น
     ก่อนอื่นมาดู Action ของกีตาร์ปกติกันก่อน ผมเข้าไปพบขอมูลที่เวปไซด์ของ Stewmac  ได้ Action ตามนี้ื


Steel-string acoustic guitar
Bass ETreble E
Action at the 1st fret.023".013"
Action at the 12th fret.090".070"
Relief: .002" at the 8th fret

ตารางจาก Stewmac อธิบายได้ความว่า
ที่เฟร็ต 1 สาย 6 สูง 0.023 นิ้ว หรือประมาณ 0.584 มม.
ที่เฟร็ต 1 สาย 1 สูง 0.013 นิ้ว หรือประมาณ 0.330 มม.
ที่เฟร็ต 12 สาย 6 สูง 0.090 นิ้ว หรือประมาณ 2.286 มม.
ที่เฟร็ต 12 สาย 1 สูง 0.070 นิ้ว หรือประมาณ 1.778 มม.

    ต่อไปคือ Taylor เขาแบ่งกีตาร์ออกเป็นสองกลุ่มตั้ง Action ไม่เท่ากัน ผมได้ข้อมูลจาก  www.ramzmusic.com  เข้าไปดูได้ข้อมูลละเอียดมากแต่ผมสรุปให้เลยเพื่อจะได้เปรียบเทียบ
 
   กลุ่มแรกคือ กลุ่มกีตาร์ตัวใหญ่ ได้แก่ Dreadnought,Grand Orchestra,Grand Symphony ส่วนใหญ่ใช้เล่นแบบตีคอร์ด ตั้ง Action ตามนี้


   กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มกีตาร์ตัวเล็กลงมา ได้แก่ Grand Concert,Grand Auditorium ส่วนใหญ่ใช้เล่นแบบตีคอร์ดและ Finger style ได้   ตั้ง Action ตามนี้


  จากการตั้งสายมาตรฐานแบบ Taylor  ที่ Fret 1 ตั้งเท่ากันกับกีตาร์ทุกทรง ส่วนตำแหน่ง Fret 12 กีตาร์ตัวเล็กซึ่งเหมาะสำหรับการเล่น Finger style ตั่งต่ำกว่า

   ลองสังเกตที่ตัวเลข Action ในตารางด้านบนครับ เป็นทศนิยม 2-3 ตำแหน่ง สาเหตุจากการคำนวน การแปลงหน่วยครับ มันจึงเป็นตัวเลขที่ไม่เต็ม คำถามตามมาสำหรับคนที่เป็นช่างทำกีตาร์ครับ  แล้วจะวัดอย่างไรให้ได้ละเอียดอย่างในตาราง คำตอบคือ ต้องหาไม้บรรทัดที่ละเอียดที่สุดเท่าที่ตาคนสามารถอ่านได้ครับ ผมไปเดินที่ร้าน True value พบไม้บันทัดเหล็กยาว 6 นิ้ว ยี่ห้อ General no.616 ซึ่งเป็นระบบ นิ้ว เมตริก คือ 1 นิ้ว แบ่งเป็น 100 ช่อง หรือพูดได้ว่า ละเอียดถึง 0.01 นิ้วต่อช่อง วัดได้ละเอียดสุด 0.005 (ประมาณได้ระหว่างขีด)  ความละเอียดขนาดนี้ใช้วัดตัวเลขในตารางข้างบนได้กำลังดีครับ ดูตามรูปข้างล่างครับ
 



    ถามว่าทำไมต้องละเอียดขนาดนี้ จากประสบการณ์ผม ผมเจอนักเล่นกีตาร์ที่มีความละเอียดสูง ความละเอียดสูงที่ผมว่าคืออะไร  นักเล่นกีตาร์สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของ Action ได้ โดยที่ผมปรับค่า Action ที่ตำแหน่ง Fret 12  ต่างกันเพียง  0.01 นิ้ว  เนื่องจากนักเล่นเหล่านี้เขาพัฒนาอินทรีย์แกร่งกล้าจากการฝึกซ้อมทุกวัน หาวิธีพัฒนาการเล่นของตัวเองตลอด แต่ก็ไม่ทุกคนนะครับ ที่ผมเจอมี 2-3 คนเท่านั้นและเป็นนักเล่นกีตาร์คลาสสิกทั้งหมด สรุปง่ายๆ คือละเอียดเพื่อการตอบสนองความต้องการของผู้เล่นนั้นเองครับ
    ยังไม่จบครับ แต่คงต้องตอนต่อไป ผมจะพาไปดู Action  กีตาร์ของนักเล่นกีตาร์แนว Finger style ระดับโลก ตัวพ่อ คือ Tommy Emmanuel เล่น Action ความสูงเท่าไร ผมยิ่งค้น ยิ่งเจอสิ่งที่น่าสนใจครับ มันละเอียดกว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาในบทความข้างต้นอีก แล้วพบกันตอนต่อไปครับ

 หมายเหตุ Action คือ ระยะระหว่างยอด Fret ถึงก้นสายครับ

Good day

Sunday, March 5, 2017

การดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิก ตอนที่ 3

   สวัสดีครับ เราต่อกันเรื่องการดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิก ซึ่งอยู่ในหัวข้อ 2.1 ทำความสะอาด Body Neck Top  หลังจากทำความสะอาดเสร็จ    ขั้นตอนสุดท้าย คือ การเช็ดเคลือบด้วย ผลิตภัณฑ์ Wax  เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนเล็กๆ  กีตาร์ดูเงางามขึ้น ปกป้องตัวเคลือบรักษาผิวกีตาร์  
       Wax ที่เหมาะที่สุดในการเช็ด เคลือบกีตาร์ เป็นที่ยอมรับกันในตอนนี้ คือ Carnauba wax เป็นผลิตภัณฑ์จากใบต้นปาล์มทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบลาซิล ผลิตภัณฑ์ขายในท้องตลาดมีส่วนผสมของ Carnuaba wax ยี่ห้อต่างๆ เช่น ของD'Addario, Planet Wave,Dunlop ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย ซี่งทางบริษัทผลิตกีตาร์แนะนำให้ใช้ นำยาเช็ดรถบางชนิดมีส่วนผสม Carnauba wax เช่นกัน Turtle wax performance plus T136R  ใช้ได้เช่นกัน
      การใช้งาน ใช้เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จำพวกน้ำยาขัด โดยหยดใส่ผ้าก่อนแล้วขัดลงบนตัวกีตาร์ ขอควรระวังอย่างหนึ่ง กรณีตัวเคลือบรักษากีตาร์แบบด้าน หรือ Satin หรือ Matt ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พวกน้ำยาขัด หรือ Wax เพราะจะทำให้ตัวเคลือบรักษากีตาร์มีความแววเป็นจุดไม่สม่ำเสมอ ดูไม่สวยงาม
      สรุปการทำความสะอาด Body Neck Top หรือส่วนที่มีตัวเคลือบรักษาผิว ความเห็นสวนตัวผมว่า หลังจากเราเล่นเสร็จทุกครั้งควรเช็ดด้วยผ้าฝ้ายเปล่าดังในขึ้นตอนแรกที่กล่าวไป เท่านี้กีตาร์ก็จะสะอาดเหมือนใหม่ตลอดแล้ว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนคลาบสกปรกหนา ส่งผลให้ทำความสะอาดยากขึ้นและต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำความสะอาดแต่อาจเป็นตัวทำลายตัวเคลือบรักษาผิวเช่นกัน
   
     2.2 การทำความสะอาด Fret Fingerboard
     ผลิตภัณฑ์ใช้สำหรับทำความสะอาด Fret, Fingerboard ได้แก่ Steel wool เบอร์ 0000 และ  Lemon oil เป็นต้น  Lemon oil ช่วยป้องกันการถ่ายความชื้นระหว่างอากาศและ Fingerboard ป้องกันการบิดเบี้ยวและการแตกของ Fingerboard  เพิ่มอายุการใช้งาน Fingerboard ให้ยาวนานขึ้น
      วิธีการดังนี้ 
     -เริ่มจากถอดสายกีตาร์ออก
     -จากนั้นหยด Lemon oil บน Fingerboard และใช้ Steel wool ขัดตามแนวยาว Fret ให้ทั่วบริเวณให้สะอาด ขั้นต่อไป ใช้ Steel wool ขัดตามแนวยาวของ Fingerboard ให้ทั่ว เพื่อลดรอยตามแนวขวางที่เกิดจาก Steel wool
     -ใช้ผ้าฝ้ายสะอาดเช็ดเศษ Steel wool ออก และเช็ด  Lemon oil ให้แห้ง เท่านี้ Fret และ Fingerboard ของกีตาร์ก็จะแววและสะอาด หรือถ้าต้องการให้ Fret แววยิ่งขึ้น และ Fingerboard เรียบยิ่งขึ้น ใช้ ฝอยขัด Scotchbrite ของ 3M สีขาวซึ่งมีความละเอียดประมาณ 1200 grid เช็ดถูตามแนวยาว Fingerboard


   Steel wool #oooo มีความละเอียดเท่ากันกระดาษทรายเบอร์ประมาณ 400 ในมาตรฐาน CAMI grit หรือประมาณ P600 ในมาตรฐาน ISO/FEPA grit. ผมสั่งซื้อใน LAZADA ราคาไม่เกิน 200 บาท ส่งถึงหน้าบ้านเลย ก้อนขนาดนี้ผมใช้ประมาณ 7 ปี




     ส่วน  Bridge กีตาร์สายเหล็กส่วนใหญ่ไม่ได้ลงตัวเคลือบรักษาผิวใช้วิธีเดียวกันกับการทำความสะอาด Fingerboard บางครั้งช่างทำกีตาร์ใช้ Refine Linseed oil แทน Lemon oil เพราะสามารถอยู่ในเนื้อ Fingerboard ยาวนานกว่า Lemon oil
    พบกันใหม่...

Friday, February 24, 2017

การดูแลรักษากีตาร์โปร่งและกีตาร์คลาสสิก ตอนที่ 2

      สวัสดีครับมาคุยกันต่อเรื่องความชื้นในอากาศต่ออีกนิดครับ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีโอกาสไปพบนักเล่นกีตาร์คลาสสิกที่ประเทศมาเลเซีย และคุยถึงเรื่องปัญหากีตาร์ที่พบส่วนใหญ่ไม้หน้าบวมเนื่องจากความชื้นในอากาศสูง ค่อนข้างมีปัญหามากกว่าประเทศไทยเพราะที่นั่นฝนตกยาวนาน และมีทะเลล้อมรอบ ผมจึงถามเขาว่าทำอย่างไร เพื่อนผมเขาแนะนำตัวดูดความชื้นแบบห่อ  มีขายที่ Daiso ราคาบ้านเราตก 60 บาท ใช้งานได้ 1-2 เดือน ดังรูปครับ


ในห่อคือ แคลเซี่ยมคลอไรด์(CaCl2) 1 ห่อนี้สามารถดูดความชื้นจากอากาศได้ 150 ml ขอดีคือห่อไม่ใหญ่มาก สามารถเก็บไว้ในกล่องกีตาร์ได้ และมีความสามารถในการดูดความชื้นได้ 70-80 % ของน้ำหนัก  เมื่อเทียบกับ Silica gel, Silica gel มีความสามารถในการดูดความชื้นได้ 24-40 % ของน้ำหนัก แต่อัตราการดูดอาจช้ากว่า Silica gel




2.การทำความสะอาด

     การทำความสะอาดกีตาร์แต่ละส่วนแบ่งได้ดังนี้
       2.1 ทำความสะอาด Body Neck Top
เป็นส่วนที่มีการเคลือบรักษาผิวไม้ ตัวเคลือบที่นิยมในกีตาร์ได้แก่ Shellac, Nitro-Lacquer และ Polyurethane  การทำความสะอาดทั้ง 3 ตัวนี้ ใช้ผ้าฝ้าย 100 % ยิ่งได้ผ่านการซักแล้วยิ่งดี เช็ดให้ทั่วและเน้นบริเวณที่สกปรกมาก ส่วนใหญ่เป็นจุดที่ร่างกายสัมผัส เช่น บริเวณขอบไม้หน้าด้านซ้ายจุดที่วางแขนขวา หลังคอ ไม้หลังที่ติดกับหน้าอก ไม้ข้างด้านขวาส่วนติดกับคอ   ถ้าเช็ดไม่ออกอาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดต่อได้ และควรใช้ผ้าแห้งเช็ดตามทันที วิธีนี้ไม่สร้างความเสียหายให้ตัวเคลือบรักษาผิวกีตาร์

          กรณีคราบสกปรกที่ไม่ละลายในน้ำคือไม่สามารถเช็ดออกโดยน้ำหมาดๆ เช่น คราบเหงื่อ รอยนิ้วมือ อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นของปิโตเลียม ได้แก่ Mineral Spirits  Lemon oil รูปแบบน้ำ(ไม่ได้มาจากน้ำมันของมะนาวแต่เป็นผลิตภัณฑ์ได้จากกระบวนการกลั่นของปิโตเลียมใส่กลิ่นมะนาว) หรือ Pledge กลิ่นมะนาว หรือกลิ่นส้ม(ตัวนี้มีSilicone ผสมอยู่เล็กน้อย) Naphtha (ในบ้านเราอาจหาซื้อได้ในรูปของน้ำมันไฟเช็ค) การใช้ผลิตภัณฑ์ควรหยดใส่บนผ้าก่อนจึงเช็ดลงบนตัวกีต้าร์ ใช้ทำความสะอาดเฉพาะจุดที่มีคราบเท่านั้น และไม่ควรใช้กับตัวเครือบผิวที่เป็น Shellac


       
     มีความสับสนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Silicone หลายบริษัทที่ผลิตกีตาร์ไม่แนะนำให้ใช้ บางครั้งให้เหตุผลว่า มันจะทำลาย ตัวเครื่องผิว แต่จากที่ผมอ่านดูจากหลายๆ แหล่งขอมูล หนังสือ อินเตอร์เน็ต จริงๆ แล้ว Silicone ไม่ทำลายตัวเคลือนผิว และ ที่ทราบบางตัวเคลือบรักษาผิวยังมีส่วนผสมของ Silicone แต่ปัญหาจริงๆ ของ Silicone ทำให้เกิด Fish eye เวลาซ่อมตัวเคลือบ เนื่องจากบริเวณที่มี Silicone อยู่จะมีแรงตึงผิวน้อยทำให้ตัวเคลือบผิวไม่ค่อยติด ดังรูปทางซ้ายมือ (จากหนังสือ Understanding Wood Finishing) แต่มีวิธีแก้ไขสำหรับปัญหานี้(อ่านดูในหนังสือ Understanding Wood Finishing หน้า 146-147)



       ถ้าต้องการขจัดรอยขีดขวดพวกรอบขนแม้ว อาจใช้น้ำยาขัด ( Polishing ) น้ำยาพวกนี้มีผงขัดเล็กๆ ผสมอยู่ หรือบางครั้งอาจเป็นรูปแบบครีม เมื่อเราขัดด้วยน้ำยาขัด ผงขัดในน้ำยาจะขัดบริเวณรอบรอยขีดข่วนออกไปทำให้ตัวเครือบผิวกีตาร์อยู่ในระดับเดียวกัน รอยขนแมวก็จะหายไป วิธีการใช้น้ำยาขัดนี้ไม่ควรทำบ่อยเพราะเป็นการทำลายตัวเคลือบรักษาผิวกีตาร์ (ทำให้ตัวเคลือบบางลง) ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาเนื้อไม้ลดลง ยิ่งกรณี ตัวเคลือบเป็น Shellac ต้องระวังมากเนื่องจากเป็นการเคลือบที่บางมาก น้ำยาขัดสำหรับ Shellac ที่แนะนำคือ NOVUS เบอร์ 2( อันนี้ดูจากวีดีโอสอน French polish ของคุณ Ron Fernandez ) ส่วน Lacquer และ Polyurethane อาจใช้น้ำยาขัดสำหรับกีตาร์ที่ขายในท่องตลาดยี่ห้อต่างๆ ได้หมด เช่น ของ Gibson, Planet Wave,Dunlop,Ernieball เป็นต้น

   ยังไม่หมดครับยังมีอีก พบกันใหม่โอกาสหน้า :)
     
แหล่งความรู้เพิ่มเติม
http://acousticguitar.com/how-to-clean-your-guitar/
http://www.wikihow.com/Clean-a-Guitar
http://www.guitaradventures.com/how-to-clean-an-acoustic-guitar