Friday, April 15, 2016

ความคม ใบกบ สิ่ว คมแค่ไหนจึงจะพอ ตอนที่ 1

   สวัสดีครับ วันนี้ผมบำรุงรักษาเครื่องมือ กบ และ สิ่ว ซึ่งเป็นเครื่องมือคู่กายที่มีความสำคัญมากของช่างทำกีตาร์ ต้องใช้แทบจะทุกวันก็ว่าได้ และสิ่งที่สำคัญคือ ความคมของมันนั่นเอง เลยมีข้อคิดเล็กน้อยมาฝากครับ
  ก่อนอื่นขอท้าวความจากประสบการณ์ ตอนนั้นปี 2005 ผมเริ่มทำกีตาร์ มีปัญหามากสำหรับการปรับไม้หน้าและไม้หลัง โดยเฉพาะไม้หลังซึ่งเป็นไม้เนื่อแข็งและเสี้ยนไม้ย้อนกันไปมาในแผ่นเดียวกัน ผมว่าทุกคนที่เคยใช้กบปรับไม้เนื้อแข็งคงเจอเหมือนกันคือ ไม้มันฉีกครับ พอไม้ฉีกเราก็ไม่กล้าจะใส่กบต่อกลัวว่าไม้มันจะบางเกินไป จากนั้นผมใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆ ประมาณ เบอร์ 60 ติดกับบล็อกไม้และขัดไปถึงความหนาที่ต้องการ บางครั้งต้องขัดกระดาษทรายกันทั้งวัน กว่ารอยฉีกจากกบจะหายและได้ความหนาไม้ตามที่ต้องการ  ต่อมาในปี 2008 ผมมีโอกาสไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาวิธีการทำกีตาร์จากคุณ Imai(อิไม) เห็นวิธีการใช้กบญี่ปุ่นปรับความหน้าไม้หลังและไม้หน้า ทำให้ผมตาสว่างว่ากบและสิ่วที่ผมใช้นั้นมันคมไม่พอ เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องการลับใบกบและสิ่ว ผมจึงถามแกตรงๆว่าวิธีลับใบกบ สิ่ว ทำอย่างไร ผมจะสรุปให้ตามนี้ครับ
   หินลับที่ใช้เป็นหินลับแบบน้ำ(water stone) ยี่ห้อ King ใช้ 2 ขนาด คือ เบอร์1000 และ เบอร์ 6000 โดยการลับด้วยเบอร์หยาบคือ 1000 ก่อน และ จบด้วยเบอร์ 6000 ซึ่งละเอียดกว่า ผมนึกกลับมาดู หินที่ผมมีในตอนนั้นคือหินลับที่ซื้อในไทยความละเอียดอยู่ที่เบอร์ 200-300 เท่านั้นเอง ผมจึงซื้อหินลับแบบน้ำกลับมาด้วย ขณะนี้ใช้มา 9 ปีแล้ว  สึกไปครึ่งหนึ่งของความหนา คาดว่าใช้หมดก้อนอาจใช้เวลาสัก 20 ปี ผมซื้อมาก้อนประมาณ 2000 บาท ถ้าคิดต่อปีตกประมาณปีละ 100 บาท ซึ่งเทียบกับมูลค่างานที่ผมทำแล้วมันต่างกันมากเลย เพราะฉะนั้นอย่าลังเลที่จะซื้อหินลับดีๆ ใช้เลยครับ  ด้วยความคมของใบกบและเทคนิคการใสขวางเสี้ยนไม้ ทำให้ปัญหาการฉีกของไม้เนื้อแข็งของผมหมดไป
   หลังจากนั้นปี 2012 ผมมีโอกาสไปเรียนทำกีตาร์ที่สเปนเพิ่มเติมและผมติดหินลับแบบน้ำสองหน้าใน1 ก้อนคือ เบอร์ 800 และ 6000 ไปด้วย ซึ่งในตอนนั้นหินลับของผมมีความละเอียดที่สุดในห้อง และผมตั้งไว้ส่วนกลางให้เพื่อนมาใช้ด้วยกัน ในตอนที่ Liam (ผู้สอนทำกีตาร์) แสดงการติดกาว Binding และ Purfling  Liamแสดงการต่อแบบเป็นมุมประมาณ 30 องศา โดยใช้สิ่วค่อยๆเฉือน วีเนียร์ที่เป็น Purling ผมสังเกตว่าสิ่วที่แกใช้(เป็นของเพื่อนที่มาเรียนด้วยกัน)นั้นไม่คม ผมจึงหวังดีเอาสิ่วของผมที่เพิ่งลับคมใหม่ให้แกลอง ปรากฎว่าคมกว่าแต่รู้สึกได้ว่ามันเฉือนวีเนียร์ไม่ค่อยราบรื่น และผมถามแกว่าสิ่วที่ผมให้ยืมคมหรือป่าว แกตอบว่าคมไม่พอ ผมงงไปเลย เพราะผมคิดว่าสิ่วที่ผมเพิ่งลับนัันคมแล้ว แสดงว่าสิ่วของแกต้องคมกว่านี้อีก
   หลังจากกลับมาประเทศไทยแล้ว เรืองความคมไม่พอ ยังติดอยู่ในใจผม ที่คิดว่าใช้เบอร์ละเอียดตั้ง 6000 ลับคมแล้วยังคมไม่พออีก จนกระทั่งผมไปพบคลิปการลับมีดสำหรับทำซูชิของญี่ปุ่นโดยคุณ Mino Tsuchida (https://www.youtube.com/watch?v=SIw5ChGOADE)




ดูไปเกิดความเข้าใจเกือบทั้งหมดยกเว้นแต่ขั้นตอนที่ 7 คือขั้นตอนสุดท้าย แกบอกว่า กรุณาทำซ้ำ 4-5 ครั้ง ผมสงสัยว่าต้องทำซ้ำทำไม มันยังติดอยู่ในใจอีกละ จนกระทั่งผมได้ลองใช้เลนส์ขยายขนาด 30 เท่า ส่องดูใบกบที่ผมลับแล้วด้วยหินลับแบบน้ำเบอร์ 1000 และ เบอร์ 6000 ตามรูป 

จากรูปเห็นได้ว่าหน้าใบกบที่ถูกลับด้วยหินลับเบอร์ 6000 นั้นแววและเรียบ แต่ที่ปลายยอดคมมันยังขรุขระ สังเกตแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งหมายความว่าใบกบนี้ยังถูกลับไม่หมดทั้งหน้า สาเหตุเกิดขึ้นจากเมื่อผมลับใบกบ ขณะตอนเปลี่ยนจากหินลับเบอร์ 1000 ผมใช้นิ้วลูบหลังใบเพื่อจะเช็ค Blur (คือเมื่อลับหน้าใบกบไปกับหินลับ เนื้อเหล็กของใบกบส่วนที่ถูกลับแล้วมันจะพลิกมาอยู่ด้านหลังใบกบ เมื่อใช้นิ้วลูบดูจะรู้สึกถึงความไม่เรียบ) เพื่อตรวจสอบว่าหน้าใบกบถูกลับเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่สัมผัสนิ้วมือผมมันหยาบกว่าที่จะรู้ว่ามันยังมีร่องเล็กๆ ที่ยังไม่ได้รับการลับอยู่อีก  วิธีการแก้ คำตอบมันอยู่ในวีดีโอ youtube ที่ผมดูอยู่ด้านบนนะครับ "กรุณาทำซ้ำ 4-5 ครั้ง" 
   นี่เป็นประสบการณ์ของผมที่อยากเล่าสู่กันฟังครับ ยังไม่จบในเมื่อเรารู้ว่าความคมนั้นมีหลายระดับ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องลับให้คมสุดในทุกๆ ครั้งเพราะในขั้นตอนการทำกีตาร์ในบางขั้นต้อนไม่จำเป็นต้องใช้ความคมสุดเพราะทำให้เราเสียเวลาในการลับคมมาก ในตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อว่า ผมใช้ความคมในโอกาสได้บ้าง และ วิธีการลับคมที่ผมใช้อยู่ เจอกันตอนหน้าครับ